สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนโรงพยาบาลโพนสวรรค์ ต.โพนสวรรค์ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ดำเนินโครงการสาธารณสุขมูลฐานเขตเมือง แนวรุกสู่การป้องกันและสงบเบาหวาน เน้นการสร้างระบบร่วมจัดการระหว่างหน่วยบริการสุขภาพและสาธารณสุขมูลฐานชุมชน ดันชุมชน สู่ภาวะ “เบาหวานหายได้”

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า โรคเบาหวานชนิดที่ 2 คือโรคเรื้อรังที่เกิดจากภาวะ ดื้ออินซูลิน และผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งคือ ความอ้วน ปัจจุบันความชุกโรคเบาหวานในไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายในปี 2540 พบความชุกจากร้อยละ 4.8 เพิ่มขึ้นเป็น 9.5% ในปี 2563 หากใช้การวินิจฉัยโดยระดับน้ำตาลช่วงอดอาหารเป็นเกณฑ์การวินิจฉัย แต่หากวัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยในเลือดย้อนหลัง 2–3 เดือนเป็นเกณฑ์การวินิจฉัยร่วมด้วย จะพบว่า ความชุกของผู้เป็นเบาหวานสูงถึง 11% ในจำนวนนี้มีผู้ที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายเพียง 26.3% จึงเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เบาหวานจอตา ตาบอด ไตวาย เท้าเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด

สำหรับจุดเด่นการดำเนินงานของโรงพยาบาลโพนสวรรค์ คือการศึกษาดูงานที่ทำเรื่อง เบาหวานหายได้ เบาหวานสงบได้ ใน 5 พื้นที่ทั่วประเทศไทย และนำมาหลอมรวมกับกระบวนการต่าง ๆ บวกกับวิชาการที่เข้มข้น เพื่อปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ โดยให้นักวิชาการ ผู้เชียวชาญ และแพทย์ พยาบาล ที่ดูแลประชาชน ให้ความรู้ในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต วิธีการกิน ให้กับชาวบ้านในพื้น ตรงนี้ถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญ และจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดูงาน และขยายผลในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ และโรงพยาบาลอื่นที่สมัครใจ สามารถมาศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลโพนสวรรค์ได้  

ส่วนหลักคิดเน้นเปลี่ยนวิธีคิด ว่า เบาหวานหายได้สงบได้ ความดันหายได้สงบได้  โรคหัวใจ โรคอัมพาตหายได้ถ้าปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ปัญหาคือจะต้องต่อสู่กับกิเลสให้ได้ ดังนั้นการลดน้ำหนัก การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การกินโปรตีนให้เพียงพอ สร้างกล้ามเนื้อที่เหมาะสม ไม่อ้วนลงพุง จะเป็นวิธีการทำให้เบาหวานหายได้ สงบได้”    

            นพ.วิพุธ พูลเจริญ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย ผู้รับผิดชอบโครงการสาธารณสุขมูลฐานเขตเมือง แนวรุกสู่การป้องกันและสงบเบาหวาน กล่าวว่า โครงการสาธารณสุขมูลฐานเขตเมือง แนวรุกสู่การป้องกันและสงบเบาหวาน เป็นการขยายผลจากโครงทดลองระบบบริการสุขภาพสร้างเสริมในเขตเมืองช่วงโควิด-19 โดยมีเป้าหมายป้องกันการเกิดผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ และสนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะเบาหวานสงบ (DM Remission) ผ่านแนวทาง “Personalized & Precision Primary Health Care” ที่เน้นการสร้างระบบร่วมจัดการระหว่างหน่วยบริการสุขภาพและสาธารณสุขมูลฐานชุมชน โดยใช้พื้นที่ อ.โพนสวรรค์เป็นจุดนำร่อง ซึ่งมีพฤติกรรม เช่น การบริโภคอาหารสำเร็จรูปและการเคลื่อนไหวน้อย เป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวาน โดยมีพื้นที่ทดสอบ ได้แก่ ชุมชนบ้านเสาเล้า 4 หมู่บ้าน ที่มีโครงสร้างเครือญาติกลุ่มชาติพันธุ์ไทญ้อที่เข้มแข็ง และมีทุนทางสังคมพร้อมต่อการจัดการสุขภาพ

“ข้อมูลในพื้นที่ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ปี 2567 พบผู้ป่วยเบาหวาน 731 คน เพิ่มขึ้นจาก 654 คนในปี 2565 และ 59.9% ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ขณะที่ 476 คนอยู่ในกลุ่มเสี่ยง โรงพยาบาลโพนสวรรค์ ได้ริเริ่มคลินิก ‘DM Remission’ โดยนำโภชนบำบัดแบบ Low Carb มาใช้ พร้อมจัดโปรแกรมดูแลร่วม 8 สัปดาห์ มีกลุ่มเป้าหมาย 100 คน แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ด้วยกลไก 6 ระบบ ได้แก่ ระบบข้อมูล ระบบบริการกำลังคน ระบบทรัพยากรระบบเทคโนโลยี ระบบบริหารจัดการ ระบบสร้างความรอบรู้ ผลลัพธ์ที่สำคัญ คือ การสร้างพื้นที่บริการร่วม ที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ด้านสุขภาพ การปรับพฤติกรรม และการติดตามเฉพาะบุคคล มีเป้าหมายขยายเป็นระบบบริการประจำในปี 2568 พร้อมเชื่อมโยงกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผสานเทคโนโลยีและภาคีเครือข่ายเพื่อควบคุมโรคเบาหวานอย่างตรงจุด” นพ.วิพุธ กล่าว