“ศบ.ทก.” ยืนยัน ไทยไม่เคยละเมิด MOU 2543 มั่นใจกลไกทวิภาคียังมีประสิทธิภาพ พร้อมหวังทั้งสองฝ่ายจะสามารถตกลง สำหรับการประชุม RBC ได้โดยเร็ว เดินหน้าประสานกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางด้านแรงงานและการเกษตร
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.68 พล.ร.ต.สุรสันต์ คงสิริ รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมด้วย นางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการประชุมศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา(ศบ.ทก.
โดย พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวว่า กระแสข่าวที่เกิดขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์ และช่องทางอื่นๆ ที่กล่าวหาว่าฝ่ายไทยใช้โดรนบินในน่านฟ้าของกัมพูชา และมีการขุดแนวร่องลึก หรือคูเลต รวมถึงการระดมอาวุธ การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง และมีการเสริมกำลังตามแนวชายแดนนั้น รัฐบาลไทยขอยืนยันว่า การดำเนินการทั้งหมดอยู่พื้นที่ที่เป็นเขตอธิปไตยของประเทศไทย ไม่มีการลุกล้ำน่านฟ้าและแผ่นดินของกัมพูชาแต่อย่างใด และยังคงกำลังเช่นเดิม จึงขอปฏิเสธคำกล่าวหาที่ระบุว่า ไทยละเมิด MOU 2543 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ทั้งสองฝ่าย มีพันธะกรณีที่ต้องยึดถือและปฏิบัติตามร่วม และขอให้ฝ่ายกัมพูชาปฏิบัติตาม MOU 2543 เช่นกัน
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยังคงเชื่อมั่นว่ากลไกทวิภาคีในการเจรจาระหว่างสองฝ่าย ยังเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมที่สุดในการแก้ไขปัญหาเขตแดนระหว่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติสากล โดยฝ่ายไทยหวังว่าการประชุม JBC สมัยพิเศษ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ในเดือนกันยายน 2568 จะเป็นการวางพื้นฐานสำหรับการทำงานร่วมกันต่อไป และทั้งสองฝ่ายจะสามารถตกลงสำหรับการประชุม RBC ในระดับแม่ทัพได้โดยเร็ว
ด้าน พล.ร.ต. สุรสันต์ คงสิริ รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย ให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนว่าการปฏิบัติการทางทหาร โดยกองกำลังในพื้นที่ 3 กองกำลังที่มีพื้นที่รับผิดชอบชายแดนทั้งกองกำลังสุรนารี กองกำลังบูรพา และกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ยังคงดำเนินการเฝ้าระวัง และปฏิบัติการทางทหารตามแนวทางของกองทัพอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อธิปไตยของไทย โดยที่ผ่านมาสถานการณ์โดยทั่วไปไม่มีเปลี่ยนแปลง ขณะที่ประเด็นที่มีผลกระทบต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงานและเกษตรกร ทางรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน โดยกระทรวงแรงงานพร้อมให้การสนับสนุนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากกำจัดคน และเวลาเข้าออกด่านผ่านแดน โดยกรมกาจัดหางาน กระทรวงแรงงานพร้อมให้การสนับสนุนจัดหางานทดแทนให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนแรงงานไทยในกัมพูชา ทางรัฐบาลได้จัดเตรียมมาตรการในการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งนี้ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายผลักดันแรงงานกัมพูชากลับประเทศแต่อย่างใด
ส่วนมาตรการทางด้านการเกษตรกร เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูการผลิต ซึ่งผลผลิตต่างๆผลิตออกมาแล้วกว่าร้อยละ 90 กระทรวงพาณิชย์ยังคงมีมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ผ่านการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ค้าปลีก และผู้ค้าส่ง ห้างร้านท้องถิ่น และการจัดงานผลไม้ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยยังมีช่องทางการกระจายสินค้า รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากไปรษณีย์ไทยในการจัดส่งผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ ทางไปรษณีย์