วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ที่กองบัญชาการกองทัพไทย จัดการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมี พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เป็นประธาน พร้อมด้วย ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) , ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) , ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เข้าร่วมประชุม โดยก่อนการประชุม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มอบเครื่องหมายต้นหนถ่ายรูปทางอากาศกิตติมศักดิ์ ให้กับ ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร.
จากนั้น นาวาอากาศเอก จงเจต วัชรานันท์ รองโฆษกกองทัพไทย แถลงข่าวผลการการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ขอให้เหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเท และเสียสละ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งสนับสนุนรัฐบาลในการดำเนินกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ อย่างเต็มกำลังความสามารถ และสมพระเกียรติ ดำรงความต่อเนื่องในการจัดกิจกรรมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ในวาระสำคัญและโอกาสที่เป็นมหามงคลอย่างต่อเนื่อง
ในที่ประชุม ยังได้มีการกล่าวถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะผู้บัญชาการทหาร ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 มีสมาชิกประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และเสนาธิการทหาร รวมทั้งได้เรียนเชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษา โดยมีหน้าที่ เสนอแนะและให้คำปรึกษาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความมั่นคงของชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งประเด็นการนำที่ดินที่อยู่ในความดูแลของหน่วยทหารไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยได้ประสานกรมธนารักษ์ร่วมบริหารจัดการให้ประชาชนเช่าที่ราชพัสดุ จำนวน 4 พื้นที่ (อุดรธานี กาญจนบุรี สมุทรปราการ และนครพนม) จำนวน 12,484 ไร่เศษ โดยมีโครงการนำร่อง ในพื้นที่ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชนในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 สำหรับพื้นที่อื่น มีเป้าหมายดำเนินการในห้วงเดือนมกราคม 2567
สำหรับการรับสมัครเข้ารับราชการทหารกองประจำการโดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ มียอดความต้องการ 29,081 อัตรา ปัจจุบันมียอดผู้สมัคร 11,837 คน โดยกองทัพไทย จะได้ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาสิทธิและสวัสดิการของทหารกองประจำการเพิ่มเติม เพื่อให้มีผู้สมัครเป็นไปตามเป้าหมาย
นาวาอากาศเอก จงเจต ยังระบุอีกว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้มอบนโยบายการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ให้กับเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกอบด้วย 4 นโยบายหลัก และ 12 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.ด้านการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของกองทัพ (Duty First) ได้แก่ การปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และการพิทักษ์รักษา ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.ด้านการให้ความสำคัญกับประชาชน กำลังพลและครอบครัว (People First) ได้แก่ การพัฒนากำลังพลและครอบครัว การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน และการใช้ทรัพยากรของหน่วยทหารให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
3.ด้านความทันสมัย (Modernization) ได้แก่ การพัฒนาระบบปฏิบัติการร่วม การพัฒนาไปสู่กองทัพที่ทันสมัย และการพัฒนาหน่วยงานด้านไซเบอร์และอวกาศ และ4.ด้านการสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม (Support to MOD/Gov) ได้แก่ การปรับรูปแบบการตรวจเลือกทหาร กองประจำการเป็นแบบสมัครใจ การบริหารจัดการสวัสดิการภายในและเชิงธุรกิจ และการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติด การบูรณาการการปฏิบัติงานร่วม ระหว่างศูนย์บัญชาการทางทหารและศูนย์ปฏิบัติการเหล่าทัพ เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคต่างๆ ของโลก
รวมทั้งสถานการณ์ด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน การรักษาความเรียบร้อยภายในประเทศ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ อาทิ การลักลอบการนำเข้าสุกรเถื่อน ยางพาราเถื่อน ยาเสพติด แรงงานต่างด้าว เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถด้านไซเบอร์ของกองทัพไทย เพื่อให้มีขีดความสามารถสนับสนุนการปฏิบัติการรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ได้ ทั้งในยามปกติและในสภาวะวิกฤต ตลอดจนสนับสนุนการปกป้องอธิปไตยทางไซเบอร์และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ ให้มีความมั่นคงปลอดภัย สนับสนุนหน่วยงานระดับชาติในการป้องกันระบบสาธารณูปโภคสำคัญ รวมถึงสามารถฟื้นคืนบริการที่สำคัญได้โดยเร็ว
ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยังได้เน้นย้ำให้เหล่าทัพเตรียมความพร้อมในการจัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในการบูรณาการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในห้วงฤดูหนาว ได้แก่ ภัยหนาว ภัยแล้ง ไฟป่าและหมอกควัน รวมทั้ง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน