เกษตรสตูล เตรียมความพร้อมในการควบคุมและแก้ไข้ปัญหาผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ท้องตลาด
วันที่ 26 พ.ค.68 นางสาวกำไลทิพย์ เศรษฐ์วิชัย เกษตรจังหวัดสตูล มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล ดำเนินการจัดประชุมเตรียมความพร้อมในการควบคุมและแก้ไข้ปัญหาผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ท้องตลาด จังหวัดสตูล หรือตรวจก่อนตัด ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมการผลิตไม้ผลระดับอำเภอทั้ง 7 และระดับจังหวัด และทบทวนวิธีการตรวจสอบน้ำหนักแห้งเนื้อทุเรียน (%แป้ง) ณ ห้องประชุม สำนักงานเกษตรอำเภอละงู จังหวัดสตูล
โดยได้มีการชี้แจงกำหนดวันตัดทุเรียนมีดแรกของจังหวัดสตูล ประจำปี 2568 โดยกำหนดให้วันที่ 18 มิถุนายน 2568 เป็นวันตัดมีดแรกอย่างเป็นทางการ สำหรับเกษตรกรที่ประสงค์จะตัดผลผลิตทุเรียน ก่อนวันดังกล่าว จะต้องนำผลผลิตทุเรียนพันธุ์หมอนทองจำนวน 1 ผล (ที่ยังไม่ผ่านการเปิดกรีด) มาตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง ณ จุดบริการตรวจก่อนตัด ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล สำนักงานเกษตรอำเภอควนโดน สำนักงานเกษตรอำเภอควนกาหลง สำนักงานเกษตรอำเภอท่าแพ และสำนักงานเกษตรอำเภอละงู
สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ อำเภอเมืองสตูล อำเภอทุ่งหว้า และอำเภอมะนัง สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน เพื่อประสานการตรวจสอบ ณ จุดบริการที่ใกล้แปลงเกษตรของตน โดยทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนวันมีดแรก ต้องมีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 32 เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพทุเรียนและรักษามาตรฐานของผลผลิตทางการเกษตรของจังหวัดสตูล
สำหรับวิธีตรวจทุเรียนอ่อน (เบื้องต้น) เกษตรกรและพ่อค้ามักใช้วิธีเหล่านี้
1. ดูหนาม
- ทุเรียนแก่: หนามจะห่าง ปลายหนามทู่
- ทุเรียนอ่อน: หนามชิด ปลายแหลม
2. เคาะฟังเสียง
- ทุเรียนแก่: เสียงกลวง ๆ ก้อง
- ทุเรียนอ่อน: เสียงทึบ แน่น
3. ดูขั้ว / เปลือก
- ขั้วแห้ง เปลือกมีสีหม่น ๆ = ทุเรียนแก่
- ขั้วยังสดเขียว เปลือกเขียวสด = ทุเรียนอ่อน
4. จำนวนวันหลังดอกบาน
- ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ใช้เวลาประมาณ 110-120 วันหลังดอกบานจึงแก่เต็มที่
5. ตรวจสอบน้ำหนักแห้งเนื้อทุเรียน (%แป้ง) ด้วยตู้อบลมร้อน หรือไมโครเวฟ แล้วชั่งน้ำหนักน้ำที่ระเหยไป โดยที่หมอนทองและก้านยาว ไม่น้อยกว่า 32 % พ่วงมณีและชะนี ไม่น้อยกว่า 30% กระดุมทอง ไม่น้อยกว่า 27 %
"ตรวจทุเรียนอ่อน" หมายถึง การตรวจสอบทุเรียนก่อนเก็บเกี่ยวหรือก่อนจำหน่าย เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่ใช่ทุเรียนอ่อน ซึ่งยังไม่สุกพอหรือยังไม่พัฒนาจนได้คุณภาพที่เหมาะสมสำหรับบริโภค เพราะการขายทุเรียนอ่อนเป็นปัญหาใหญ่ในวงการทุเรียนไทย ทำให้รสชาติแย่ กินไม่ได้ เสียชื่อเสียงของเกษตรกร สร้างความไม่พอใจให้ผู้บริโภค และส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์การส่งออกทุเรียนไทย