สถานการณ์ใน “ซีเรีย” ณ ชั่วโมงนี้ ไม่ผิดอะไรกับบรรยากาศที่เรียกว่า “ฟ้าเปิด” แล้ว
เพราะตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา “บรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตก” ต่างพากันทยอยยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร หรือแซงก์ชัน ต่อซีเรีย จนแทบจะกลายเป็นเทรนด์ เป็นกระแส กันเลยทีเดียว
เริ่มจาก “สหรัฐอเมริกา” ประเทศมหาอำนาจตะวันตกหมายเลขหนึ่ง ซึ่ง “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ผู้นำของพวกเขา สร้างความเซอร์ไพรส์ ประหลาดใจไปตามๆ กัน เมื่อเขาได้ประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดต่อซีเรีย ในระหว่างที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอมสร้างสีสันให้โลกต้องตะลึงงันกันไปหลายงานผู้นี้ กำลังเดินทางเยือน 3 ประเทศ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง อันได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อกลางถึงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งยังถือเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่เข้าสู่ทำเนียบขาว ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่สองของนายทรัมป์อีกต่างหากด้วย
พลันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ เยือนถิ่นซาอุดีอาระเบียเป็นจุดหมายแรก นอกจากได้เจรจาพาทางการซาอุฯ เจ้าบ้าน ทำข้อตกลงเป็นประการต่างๆ แล้ว ผู้นำสหรัฐฯ ก็ยังถือโอกาสนี้ ได้พบปะและหารือกับนายอาเหม็ด ฮุสเซน อัล-ชาราอา รักษาการประธานาธิบดีของซีเรีย ที่กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย โดยมีเจ้าชายมุฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ทำหน้าที่เสมือนเป็นกาวใจ หรือเป็นคนกลาง ในการไกล่เกลี่ยระหว่างกัน โดยมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ก็ได้ร่วมการเจรจาด้วย ท่ามกลางบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น
เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ ได้กล่าวถึงการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดต่อซีเรีย
โดยประธานาธิบดีทรัมป์ เปิดเผยว่า ได้เคยประกาศก่อนหน้านี้แล้วว่า ตนมีแผนการที่จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อซีเรีย กระทั่งได้ตัดสินใจมีคำสั่งให้ยุติการคว่ำบาตรต่อซีเรีย หลังจากที่ตนได้พบปะกับเจ้าชายมุฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย และได้มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในซีเรีย
ทั้งนี้ นอกจากเจ้าชายมุฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังได้หารือกับประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน แห่งตุรเคีย และผู้นำคนอื่นๆ มาแล้วก่อนหน้าด้วย
ขั้นตอนหลังจากนี้ ทางการสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็จะส่งนายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ให้เดินทางไปยังนครอิสตันบูล ประเทศตุรเคีย เพื่อหารือกับนายอัสซาด ฮัสซัน อัล-ชิบานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลรักษาการของประเทศซีเรีย เกี่ยวกับแนวทางในการจัดการสถานการณ์ในซีเรีย เพื่อให้สอดรับกับมาตรการคว่ำบาตรที่จะถูกสหรัฐฯ ยกเลิกอย่างเป็นทางการต่อไป
หลังจากนั้น ทางการสหรัฐฯ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรูบิโอ ก็ได้ขึ้นให้การต่อคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ หรือสภาซีเนต อันเป็นสภาสูง เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยรัฐมนตรีฯ รูบิโอ นอกจากให้การต่อคณะกรรมาธิการฯข้างต้นแล้ว ด้วยการชี้แจงถึงเหตุผลที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดต่อซีเรียแล้ว ก็ยังมีคำเตือนไปถึงรัฐบาลรักษาการของซีเรีย ในการบริหารปกครองประเทศ ให้ระมัดระวังเรื่องความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนต่างๆ ในซีเรีย ที่อาจจะลุกลามบานปลายออกไป จนทำให้เกิด “สงครามกลางเมืองครั้งใหม่” ซึ่งอาจจะส่งผลให้ประเทศถึงขั้นต้องล่มสลายได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ก็เป็นได้
พร้อมทั้งหยิบยกเหตุปะทะกันอย่างละเลงเลือดถึง 2 ครั้งใหญ่ระหว่างกองกำลังกลุ่มติดอาวุธฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลรักษาการซีเรียชุดปัจจุบัน กับกลุ่มอะลาวิต ที่เคยให้การสนับสนุนต่อระบอบอัสซาด จนมีผู้เสียชีวิตราว 1 พันคน เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นกรณีตัวอย่าง
รัฐมนตรีฯ รูบิโอ กล่าวทิ้งท้ายว่า พวกเราได้ประเมินอย่างตรงไปตรงมา แล้วพบว่า รัฐบาลรักษาการซีเรีย อาจเผชิญกับปัญหาความท้าทายหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการขัดแย้งภายใน ที่อาจนำไปสู่งสงครามกลางเมืองครั้งใหม่ พร้อมกับทำให้ประเทศเกิดความแตกแยกถึงขั้นล่มสลาย
นั่น! เป็นการดำเนินการของสหรัฐฯ ที่จะยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดต่อซีเรีย ก่อนจะทำให้ทางสหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งมีชาติสมาชิกถึง 27 ประเทศ ได้ประกาศที่จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดต่อซีเรียตามมา
โดยนางไคยา คาลลัส หัวหน้าฝ่ายนโยบายการต่างประเทศของอียู เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชาติสมาชิกอียู 27 ประเทศ ประชุมหารือร่วมกันที่สำนักงานใหญ่ของอียู ในกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม ก่อนมีมติเห็นชอบออกมาว่า ให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อซีเรียทั้งหมด
ทั้งนี้ มาตรการคว่ำบาตรต่อซีเรียของสหรัฐฯ และอียู ซึ่งทั้งหมดเป็นชาติมหาอำนาจตะวันตก ได้บังคับใช้ในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ เมื่อ 14 ปีที่แล้ว เพื่อลงโทษต่อรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ที่ปกครองซีเรียในขณะนั้น ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนชาวซีเรียอย่างรุนแรง ถึงขึ้นใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามประชาชน จนนำไปสู่สงครามกลางเมือง ซึ่งผลพวงจากการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรข้าง้น ก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจของซีเรียมิใช่น้อย
กระทั่งรัฐบาลประธานาธิบดีอัสซาด หรือที่หลายคนเรียกว่า “ระบอบอัสซาด” ล่มสลายเพราะฝ่ายกบฎที่นำโดยกลุ่ม “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” หรือ “เอชทีเอส” โค่นล้มเป็นผลสำเร็จเมื่อปลายปีที่แล้ว พร้อมกับเครือข่ายฝ่ายต่างของกลุ่มเอชทีเอสขึ้นมาปกครองซีเรีย ก็ได้พยายามดำเนินการให้เหล่าชาติมหาอำนาจตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อซีเรีย เพราะมาตรการคว่ำบาตรที่ยังบังคับใช้อยู่นั้น ส่งผลกระทบต่อซีเรียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนในการสร้างประเทศให้กลับฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ถูกขัดขวางไป โดยหลายชาติ โดยเฉพาะชาติพันธมิตรตะวันตก ไม่สามารถยื่นมือช่วยเหลือซีเรีย เนื่องจากยังมีมาตรการคว่ำบาตรเป็นอุปสรรคขัดขวาง อย่างไรก็ดี เมื่อมาตรการคว่ำบาตรถูกยกเลิกไป ก็ถึงเวลาของรัฐบาลรักษาการซีเรีย จะได้พิสูจน์ตนเอง ในการบริหารปกครองซีเรียอย่างสงบสุข โดยจะทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้ความขัดแย้ง นำไปสู่สงครามกลางเมืองครั้งใหม่หวนกลับมาอีกครั้ง