"ประเสริฐ" ห่วงปัญหา "บุหรี่ไฟฟ้า" ในกลุ่มเด็กเยาวชน ขับเคลื่อน 3 มาตรการตามมติ ครม. เผยรายได้สรรพสามิตจากภาษีบุหรี่มวลลดต่อเนื่อง 20% สะท้อนภาพรวมถึงพฤติกรรมคนเสพบุหรี่
วันที่ 25 พ.ค 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ที่ประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 5/2568 ได้รับทราบรายงานข้อมูลการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 62,578 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 50,029 ล้านบาท ในปี 2567 หรือจัดเก็บภาษีได้ลดลงถึง 20% สอดคล้องกับผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติปีล่าสุด พบการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มลดลงจาก 10.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 21.2% ในปี 2550 เหลือ 9.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 16.5% ในปี 2567 ในจำนวนนี้นิยมสูบบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน 12.6% รองลงมาคือบุหรี่มวนเอง 8.8% บุหรี่ไฟฟ้า 1.5% และอื่นๆ เช่น ยาสูบที่สูบผ่านน้ำ 0.2% จึงขอให้ สสส. และทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายควบคุมยาสูบอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการเฝ้าระวังและศึกษาผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้า ป้องกันการขยายตัวของนักสูบหน้าใหม่โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน รวมทั้งบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความตระหนักรู้กลวิธีของอุตสาหกรรมยาสูบ ซึ่งในวันที่ 31 พ.ค.2568 เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก อยากเชิญชวนพี่น้องชาวไทยร่วมกันรณรงค์งดการสูบบุหรี่ ภายใต้คำขวัญขององค์การอนามัยโลกปีนี้ ที่ระบุว่า “กระชากหน้ากากธุรกิจบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า : นิโคตินเสพติด จน ตาย”
นายประเสริฐฯ กล่าวอีกว่า จากการที่ สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายศึกษาข้อมูลและผลกระทบที่เกิดขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายด้านการจราจร เนื่องจากมีประเด็นปัญหากรณีผู้กระทำผิดกฎจราจร ได้รับใบสั่งจราจรมากกว่า 10 ล้านฉบับต่อปี แต่มีข้อจำกัดในเรื่องการติดตามการชำระค่าปรับใบสั่งจราจร และภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของการส่งใบสั่งทางไปรษณีย์เพื่อติดตาม นำไปสู่ข้อเสนอใน 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1. การปรับปรุง/แก้ไขระเบียบกระทรวงการคลัง ในส่วนของการจัดสรรเงินค่าปรับจราจรให้กับท้องถิ่น เพื่อนำมาสนับสนุนและพัฒนาการบังคับใช้กฎหมาย 2. พัฒนาระบบ IT เชื่อมโยงระหว่างกล้องถ่ายอัตโนมัติ และการเชื่อมโยงระบบของตำรวจทางหลวง, กรมขนส่งทางบก และไปรษณีย์ และ 3 ปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำงบประมาณในส่วนค่าปรับจราจรของท้องถิ่น มาใช้สำหรับการส่งไปรษณีย์ – แบบไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ, ลงทุน “ติดตั้งกล้องตามจุดเสี่ยง”, พัฒนาระบบเชื่อมโยงเครือข่าย สำหรับข้อเสนอเหล่านี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาระเบียบและข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อความชัดเจนว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากไม่ติดขัดในข้อกฎหมายตนในฐานะกระทรวง DE พร้อมเป็นเจ้าภาพในการนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูล ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์หรือผลกระทบปลายทางคือการลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นการป้องกันเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า และเห็นชอบมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย 5 มาตรการ 1.พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ เช่น กำหนดให้สถานศึกษาเป็นสถานศึกษาปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 2.สร้างการรับรู้อันตรายและการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินรูปแบบใหม่ๆ แก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน 3.เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เช่น กำหนดมาตรการทางกฎหมาย ตลอดจนระเบียบต่างๆ เพื่อกำกับดูแลมิให้มีการเผยแพร่และนำเสนอประเด็นที่บิดเบือนเกี่ยวกับบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า 4.พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน เช่น จัดทำแนวปฏิบัติการขนส่ง โดยระบุให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามป้องกันการเข้าถึงในช่องทางซื้อขายโดยเฉพาะทางออนไลน์ 5.ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกัน และปราบปรามการแพร่ระบาด โดยที่คำนึงถึงพันธสัญญาที่ไทยร่วมเป็นสมาชิก ซึ่ง สสส. จะใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อไป