กระทรวงสาธารณสุข รุกเปิดตัว "รถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่" พัฒนาโดย สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ให้บริการสุขภาพเชิงรุก 6 ด้าน ทั้งตรวจรักษาโรค NCDs ตรวจสุขภาพเบื้องต้น หวังลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพได้ถึง 12% หรือ 21,600 คนต่อปี
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน Kick-Off เปิดตัวรถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่ โดยมี นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม ที่อาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพผู้สูงวัย สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จ.นนทบุรี
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย "ผู้สูงอายุ" กว่า 38% มีโรคประจำตัวมากกว่า 2 โรค เข้าใช้บริการผู้ป่วยนอกกว่า 68 ล้านครั้ง และบางส่วนยังเข้าไม่ถึงบริการ รุกเปิดตัว "รถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่" พัฒนาโดย สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ให้บริการสุขภาพเชิงรุก 6 ด้าน ทั้งตรวจรักษาโรค NCDs ตรวจสุขภาพเบื้องต้น คัดกรองช่องปาก Tele-Consult ให้คำปรึกษาโภชนาการ และฉีดวัคซีน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพได้ถึง 12% หรือ 21,600 คนต่อปี
“ปัจจุบันคนไทยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 77 -78 ปี โดยค่าเฉลี่ยผู้หญิงจะมีอายุประมาณ 81 ปี ส่วนผู้ชายประมาณ 73 ปี แต่สิ่งสำคัญเรื่องการมีอายุที่สูงขึ้น แต่มีสุขภาพที่ดีกว่าป่วยซึ่งปัจจุบันค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 68 ปี และถ้ามีอายุ 68 ปีขึ้นไป จะต้องมีการเจ็บป่วยบางคนอาจจะป่วยตอนอายุ 40 ปี แต่บางคนป่วยตอนอายุ 80 ปี ทุกคนจะต้องเจ็บป่วยไม่ว่าจะเป็นโรคใดโรคหนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขต้องเข้ามาดูแลให้มีการเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ทำให้การเดินทางลำบาก เข้าถึงบริการยากขึ้น ในวันนี้ผมคิดว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่นำการบริการรถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่ ไปหาประชาชนเพื่อเพิ่มการเข้าถึง ให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีต่อไป”
นพ.ศักดากล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 14.37 ล้านคน คิดเป็น 21.87% ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความท้าทายด้านสุขภาพจากปัญหาการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โรคที่พบมากที่สุด คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจ โดยผู้สูงอายุมากกว่า 38% มีโรคประจำตัวมากกว่า 2 โรค รวมถึงมีปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย เช่น การมองเห็น สุขภาพช่องปาก ภาวะสมองเสื่อม และการพลัดตกหกล้ม หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมอาจนำไปสู่ภาวะพึ่งพิงและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว ทำให้ต้องเข้ารับบริการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาลรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ
นพ.ศักดากล่าวต่อว่า จากรายงานของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566 พบว่า ผู้สูงอายุใช้บริการผู้ป่วยนอกกว่า 68.9 ล้านครั้ง และเข้าใช้บริการในสถานพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่า 2% หรือประมาณ 1.8 ล้านครั้งต่อปี อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้สูงอายุอีกมากที่มีข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้ารับบริการด้านสุขภาพได้ กรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จึงได้พัฒนา “รถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่” นำบริการสาธารณสุขออกไปถึงชุมชนและกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประมาณการณ์ว่าใน 1 ปี รถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ 1 คัน จะช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการของผู้สูงอายุได้ถึง 12% หรือ 21,600 คน ถือเป็นนวัตกรรมสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ส่งเสริมการป้องกันโรค และสนับสนุนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ลดภาระของโรงพยาบาล และลดภาระของประชาชนในการเดินทาง โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล
ด้าน นพ.ธนินทร์กล่าวว่า รถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่มี 6 บริการหลัก ได้แก่ 1.การตรวจรักษา ติดตาม ให้คำปรึกษาด้านโรค NCDs ภาวะสมองเสื่อมและภาวะหกล้ม 2.ตรวจคัดกรองสุขภาพช่องปาก 3.ให้คำปรึกษาทางไกล (Tele-Consult) โดยทีมสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ 4.ตรวจสุขภาพเบื้องต้น (วัดความดัน ตรวจเบาหวาน ชั่งน้ำหนัก ฯลฯ) 5.ให้คำปรึกษาด้านโภชนาการและกิจกรรมพัฒนาร่างกาย และ 6.ฉีดวัคซีนและเวชภัณฑ์เบื้องต้น ซึ่งในการเปิดตัวรถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่ครั้งนี้ มีกิจกรรมให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพแก่ผู้สูงอายุและผู้สนใจ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้แทนเขตสุขภาพที่ 4 ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการนำรถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่ไปให้บริการประชาชน