กมธ.เทคโนโลยีสารสนเทศฯ ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ อสมท.เปิดประเด็นการต่ออายุใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เตรียมรับมืออุตสาหกรรมสื่อเผชิญจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่! ด้าน "สว.ชิบ" กังวล "กสทช." นโยบายไม่ชัดเจน ปัญหาเก่า-ใหม่รุมเร้าแก้ไม่จบ
วันที่ 23 พ.ค. 68 ที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา นำโดย นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการ เดินทางไปหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะกรรมการและผู้บริหาร บมจ.อสมท โดยมี นายผาติยุทธ ใจสว่าง รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ
การหารือครั้งนี้มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ ยุทธศาสตร์ของ อสมท. ในฐานะสื่อสาธารณะภายใต้ระบบดิจิทัล ท่ามกลางความท้าทายจากเทคโนโลยีสื่อใหม่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และการแข่งขันจากแพลตฟอร์มเอกชน ทั้งยังพูดถึงแนวทางการเตรียมความพร้อมในการสิ้นสุดใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิทัลในปี 2572 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายนิเวศ ยังแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมสื่อที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วว่า แม้ อสมท. จะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ต้องพึ่งพาตนเองอย่างเต็มที่ ไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ขณะเดียวกัน มูลค่าหลักทรัพย์ในตลาดก็ลดลง การแข่งขันกับเอกชนที่ได้เปรียบทั้งด้านต้นทุนและการเข้าถึงสปอนเซอร์ ยิ่งกดดันให้ อสมท. ต้องเร่งปรับตัว
นายนิเวศ เสนอให้ อสมท. หันมาใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน เช่น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือการสร้างคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มหลากหลาย เพื่อเพิ่มรายได้ พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุนกลไกการแข่งขันที่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการรายเดิมที่มีภาระทางสังคมควบคู่กับภาระธุรกิจ
ด้านนายชิบ จิตนิยม วุฒิสมาชิกและโฆษกคณะกรรมาธิการฯ ได้หยิบยกประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการหมดอายุสัมปทานของทีวีดิจิทัลในปี 2572 ขึ้นหารือ หากมีการต่ออายุใบอนุญาต น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า เพราะหากเลือกใช้วิธีประมูลใหม่ อาจมีผู้เข้าร่วมจำนวนน้อย และในท้ายที่สุดประเทศอาจเหลือผู้ประกอบการเพียง 6–7 ราย
"ผมกังวลถึงความไม่ชัดเจนของ กสทช. ว่า นโยบายและแนวทางของ กสทช. ในหลายประเด็นยังไม่มีความคืบหน้า ปัญหาเก่ายังไม่ถูกแก้ ไม่นับรวมปัญหาใหม่ที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง และอสมท. ยังคงเผชิญผลประกอบการขาดทุนทั้งในกิจการวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญในการรักษาสถานะและบทบาทในยุคดิจิทัล"นายชิบ กล่าวและว่า การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ ได้เปิดประตูสู่ ความร่วมมือระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและภาคธุรกิจสื่อ เพื่อกำหนดแนวทางนโยบายที่ตอบโจทย์อนาคตของอุตสาหกรรมสื่อไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในแง่ของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันโลกที่หมุนเร็วอย่างไม่มีวันหยุด