"พิพัฒน์" ผนึก NGOs เครือข่ายใน-ระหว่างประเทศ ร่วมวางแนวทางคุ้มครองสิทธิแรงงาน–ป้องกันการค้ามนุษย์ ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานไทยทุกกลุ่ม

วันที่ 21 พฤษภาคม 2568 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานกับองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อยกระดับการคุ้มครองแรงงานไทยทุกกลุ่มให้ได้รับสิทธิอย่างเป็นธรรม ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เรือเอกสาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศและองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีตัวแทนจากหลายองค์กรชั้นนำเข้าร่วม อาทิ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) โครงการอาเซียน-ออสเตรเลียเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (ASEAN -ACT) รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนชั้นนำ อย่างมูลนิธิ ไอเจเอ็ม (IJM) มูลนิธิแรงงานสากลแห่งประเทศญี่ปุ่น (ประเทศไทย) มูลนิธิ เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ( LPN ) ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล ( Stella Maris)  สำนักงานกฎหมายเอสอาร์ (SR LAW)และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ที่ร่วมกันขับเคลื่อนการปกป้องสิทธิแรงงานอย่างเข้มแข็ง

โดยทุกองค์กรได้ร่วมเสนอแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ป้องกันการค้ามนุษย์ และยกระดับมาตรฐานการจ้างงานให้มีความปลอดภัย เป็นธรรม และโปร่งใส รวมถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน (TIP Report) ให้ได้ตามเกณฑ์สากล ซึ่งการพบกันในวันนี้คือก้าวสำคัญที่รัฐและภาคีเครือข่ายจะร่วมกันปกป้องสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ กลุ่มเปราะบาง และแรงงานในระบบใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีพร้อมเน้นว่า “กระทรวงแรงงานจะนำข้อเสนอจากเวทีนี้ไปต่อยอดเป็นนโยบายที่ประชาชนเข้าถึงได้จริง และเท่าทันกับมาตรฐานแรงงานสากล

             

ด้านเรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ความร่วมมือกับ องค์การระหว่างประเทศ และ NGOs จะช่วยให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในมิติที่รัฐอาจเข้าไม่ถึง เช่น การช่วยเหลือแรงงานในพื้นที่เสี่ยง หรือแรงงานข้ามชาติที่ประสบปัญหา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือ นำไปพิจารณา ข้อเสนอจากภาคีเครือข่ายสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แรงงานไทยและแรงงานต่างชาติในประเทศไทย ได้รับการดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน และเป็นส่วนหนึ่งของตลาดแรงงานที่ยั่งยืน