กกต.ไปต่อไม่รอแล้ว เดินหน้าเผยแพร่ข้อมูลความรู้ ก่อนถึงวันเลือกตั้ง อบต. ที่จะหมดอายุปลายปี เลือกตั้งเรื่องใกล้ตัว  รู้จักสิทธิเป็นสิ่งจำเป็น ที่ประชาชนควรเตรียมพร้อมล่วงหน้า 

กกต. วันนี้  ( 22 พ.ค.)   สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  เผยแผนการเตรียมเดินหน้าให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนล่วงหน้า    ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 
ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2568 นี้     มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าใจถึงบทบาทสำคัญของ อบต. ที่มีต่อการพัฒนาท้องถิ่น พร้อมรู้เท่าทันสิทธิ หน้าที่ และกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

อบต.คือ   องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบล   มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น   ทำหน้าที่ดูแลบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนในตำบล   ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม   เช่น  การซ่อมแซมถนนในหมู่บ้าน ระบบประปา 
การเก็บขยะ การดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การส่งเสริมอาชีพ รวมถึงการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นและการจัดบริการสาธารณะให้เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

ปัจจุบันมีองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ทั่วประเทศจำนวน 5,293 แห่ง   ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแล
และจัดทำบริการสาธารณะแก่ประชาชนในระดับหมู่บ้านและตำบล และมีเขตพื้นที่รับผิดชอบตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย

สมาชิกสภา อบต. ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เขตเลือกตั้งละ 1 คน โดยกำหนดเขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง   เว้นแต่ หมู่บ้านใดมีราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน   และรวมกันแล้วมีราษฎรถึง 25 คน เป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน    อายุของสภา อบต. มีกำหนดคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง

ทั้งนี้ หาก อบต. ใดมีเขตเลือกตั้งไม่ถึง 6 เขตเลือกตั้ง (หมู่บ้าน) ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 6 คน โดยถ้ามี 1 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. 6 คน    ถ้ามี 2 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 3 คน   ถ้ามี 3 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 2 คน   ถ้ามี 4 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 1 คนก่อน แล้วเพิ่มให้เขตเลือกตั้งที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุด 2 เขตเลือกตั้งแรก เขตเลือกตั้งละ 1 คน    และถ้ามี 5 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 1 คน และเพิ่มให้เขตเลือกตั้งที่มี
จำนวนราษฎรมากที่สุดอีก 1 คน

สภา อบต. มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนา อบต. พิจารณาและอนุมัติงบประมาณ  รวมทั้งควบคุมการบริหารราชการของนายก อบต. ให้เป็นไปตามนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

ในส่วนนายก อบต. มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 1 คน โดยใช้เขตองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเขตเลือกตั้ง มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปี ก็ให้ถือว่าเป็น 1 วาระ   และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระ    ติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันพ้นตำแหน่ง

สำหรับ นายก อบต. มีหน้าที่บริหารงานตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย แถลงนโยบายต่อสภา และควบคุมการดำเนินงานของพนักงานส่วนตำบลให้เป็นไปตามเป้าหมายและประโยชน์สูงสุดของประชาชน
ประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลมีสิทธิและหน้าที่หลายประการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
การเสียภาษีอย่างถูกต้อง และปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบัญญัติของ อบต.
การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของ อบต.
การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของ อบต.    การเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง    การมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาและงบประมาณ    การเข้าชื่อเสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น  และการเข้าร่วมประชุมสภา อบต.   

การใช้สิทธิเลือกตั้งและการสมัครรับเลือกตั้งการเลือกตั้ง อบต. ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะผู้ที่ประชาชนเลือกเข้าไปจะมีอำนาจตัดสินใจ ในเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน การรู้จักบทบาทของ อบต. และสิทธิของตนเองอย่างถูกต้อง    จึงเป็นสิ่งจำเป็น ประชาชนควรเตรียมความพร้อมล่วงหน้า โดยเฉพาะการตรวจสอบคุณสมบัติของตนเอง   เพราะหากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิบางประการนาน 2 ปี ทั้งนี้ การแจกเงิน สิ่งของ หรือผลประโยชน์เพื่อแลกคะแนนเสียง  ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย มีโทษทั้งจำและปรับ