สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) สํานักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) และ Thai Climate Justice for All (TCJA) ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขมลพิษอากาศ (ศวอ.) จัดสัมมนาวิชาการสาธารณะระดับชาติ สิ่งแวดล้อม มลพิษ สุขภาพ และความยุติธรรม Environmental and Health Justice FORUM ประเด็น "สิทธิ ความเป็นธรรม ในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ พลเมืองไทย" ระหว่างวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอต กรุงเทพฯ เพื่อระดมพลังประชาสังคม สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม และผลักดันข้อเสนอสาธารณะในการปรับปรุงกฎหมายและนโยบาย รวมถึงข้อเสนอการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และแก้ไขกฎหมายสำคัญ เช่น PRTR, EPR, WEEE และกฎหมายอากาศสะอาด
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เป็นประธานปิดการสัมมนาฯ ดังกล่าว ซึ่งตลอด 2 วันของการจัดงานประชาชนและภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง จนได้ข้อเสนอจากสมัชชาฯ ที่ว่า การเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ ยั่งยืน และเป็นธรรม เป็นสิทธิของทุกคน และเป็นหน้าที่ร่วมกันในการผลักดัน สิทธิให้เกิดขึ้นจริง โดยข้อเสนอการสัมมนาสาธารณะ สิทธิ ความเป็นธรรม ในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ พลเมืองไทย ประกอบด้วย เรื่อง สิทธิเชิงกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เสนอให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เรื่อง มลพิษภัยธรรมชาติ และผลกระทบข้ามพรมแดน เสนอให้รัฐบาลจัดการตามระดับความรุนแรง ควบคุมการก่อมลพิษจากแหล่งกำเนิด เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนเป็นอันดับแรกในการดำเนินโครงการที่กระทบต่อนิเวศ
ส่วน เรื่องคนอยู่กับป่าความหลากหลายทางชีวภาพ และชนเผ่า เสนอว่า ควรยกเลิกนโยบายที่จำกัดสิทธิชุมชน สนับสนุนกฎหมายเพื่อคุ้มครองที่ดินและทรัพยากร พร้อมรับรองสิทธิชนเผ่า โดยเร่งรัดการผ่านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และเรื่องมหาสมุทร สุขภาพ และความเป็นธรรม เสนอว่า รัฐบาลต้องบริหารทรัพยากรทางทะเลอย่างยุติธรรม รักษาสิทธิชาวประมง ลดขยะทะเล และควบคุมผลกระทบจากโครงการชายฝั่ง เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
สำหรับเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ภัยพิบัติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และสิทธิชุมชน เสนอว่าควรทบทวนโครงการที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ประเมินโครงการที่อาจเพิ่มความรุนแรงของภัยพิบัติ สนับสนุนการจัดการน้ำโดยชุมชนให้สอดคล้องกับระบบนิเวศและวิถีชีวิต และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องและเพียงพอ เรื่องมลพิษและกากอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เสนอว่ารัฐต้องเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายต่อการลักลอบนำเข้าขยะอุตสาหกรรม พร้อมเร่งรัดการออกกฎหมาย PRTR ส่งเสริมขีดความสามารถของชุมชนและท้องถิ่นในการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม ยกเลิกการสนับสนุนโรงงานที่ก่อมลพิษ และกำหนดให้โรงงานที่มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมต้องอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเพื่อควบคุมผลกระทบ
ขณะที่เรื่องความยั่งยืนและความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ เสนอให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับโครงสร้างพลังงานสู่พลังงานหมุนเวียน และพัฒนาเกษตรนิเวศที่ให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง สร้างระบบคุ้มครองสิทธิชุมชนและกลุ่มเปราะบาง เรื่องข้อเสนอต่อองค์กรภาคประชาชน และภาควิชาการ เสนอให้จัดตั้งกลไกความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ภาควิชาการและมหาวิทยาลัยมีบทบาทนำในการสร้างองค์ความรู้ และส่งเสริมภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมและอำนาจต่อรองมากขึ้น
โดยข้อเสนอทั้งหมดได้ถูกส่งถึงมือ นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะนำไปเพื่อใช้ประกอบการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และผลักดัน สิทธิ ความเป็นธรรม ในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป