วันที่ 19 พ.ค.68 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสิทธิกร ธงยศ สมาชิกวุฒิสภา เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา ต่อคณะอนุกรรมการ กกต. ในคดีการฮั้วเลือก สว. ภายหลังได้ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้มารับทราบข้อกล่าวหา และดูว่า กกต.จะแจ้งข้อกล่าวหาอะไร ส่วนตัวมั่นใจว่าทำตามระเบียบและข้อกฎหมายที่กำหนด แต่ที่เป็นห่วงคือการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพราะเป็นครั้งแรกที่ดีเอสไอมาทำงานให้กับ กกต. หากคดีนี้ได้รับการพิจารณาก็จะเป็นบรรทัดฐานในการทำคดีเลือกตั้งอื่นๆ ทั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และการเลือกตั้งท้องถิ่น ดังนั้นจึงเหมือนเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงการทำงานของ กกต. หน่วยงานอย่างดีเอสไอต้องพิสูจน์ว่าทำงานภายใต้อำนาจหน้าที่ ถ้าคดีนี้ผ่านมีคดีต่อไปก็ต้องใช้บรรทัดฐานเช่นเดิม
สำหรับดีเอสไอ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สังกัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีรัฐมนตรีสังกัดพรรคการเมือง ถ้ารัฐมนตรีที่สังกัดพรรคการเมืองมาทำคดี เกรงว่าจะไม่เกิดความเป็นธรรม ส่วน กกต. เป็นองค์กรอิสระที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ตนจึงมีความเป็นห่วงในคดีนี้
นายสิทธิกร กล่าวว่า สว. ที่มารับทราบข้อกล่าวหายังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ไม่น่าเป็นประเด็น ส่วนกรณีที่ สว.สำรอง เรียกร้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มองว่าเป็นการรับลูกกันระหว่างดีเอสไอ สว.สำรอง และผู้ที่เสียผลประโยชน์ และ สว. อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ขอเอ่ยนาม เป็นหน้าที่ของเขาที่สามารถรวมรายชื่อเพื่อส่งถึงประธานวุฒิสภาได้ คงไม่ใช่กระบวนการกลั่นแกล้ง
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปก่อนวันเลือก สว. จะพบกลุ่มจัดตั้งที่อยู่ในโรงแรมตรงทางเข้าเมืองธานี มีคนจำนวนมากกว่า 500 คน มีเอกสารที่ไม่แน่ใจว่าใช่โพยหรือไม่ ซึ่งมี สว.ที่เสียผลประโยชน์อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย รวมถึง สว.ที่ใกล้ชิดกับพรรคการเมือง จึงตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดดีเอสไอ จึงไม่ตรวจสอบ สว.กลุ่มดังกล่าวด้วย จึงขอให้ดีเอสไอตรวจสอบทั้งหมด ตัวจริง 200 คน และ สว.สำรองอีก 100 คน ส่วนที่ดีเอสไอใช้เอไอสอบสวนคดีฮั้วพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องกว่า 1,157 คน ถือเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของผู้ใช้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเอไอดังกล่าวได้รับมาตรฐานหรือไม่ ไม่ใช่กล่าวอ้างว่ามีมาตรฐานเที่ยงธรรม
นายสิทธิกร กล่าวว่า ไม่ทราบว่า สว.กลุ่มนี้เป็น สว.สีน้ำเงินหรือไม่ ส่วนที่มีการลงคะแนนเหมือนกัน ตนก็ไม่ทราบเพราะเป็นการลงคะแนนลับ