“ดุสิตโพล”เผยคนไทยกังวลค่าครองชีพ-ปัญหาเศรษฐกิจ อึ้งมีเงินสำรองฉุกเฉินต่ำกว่า 1 เดือน เผย กว่า76%ไม่เชื่อมือรบ.แก้“ภาษีทรัมป์”

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง "คนไทยกับการรับมือปัญหาเศรษฐกิจ" กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,229 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 6-9 พฤษภาคม 2568 พบว่า กลุ่มตัวอย่างมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ณ วันนี้ ทำให้ค่อนข้างกังวล ร้อยละ 51.59 โดยเรื่องที่กังวลมากที่สุด คือ เรื่องราคาสินค้าแพงขึ้น ร้อยละ 73.23 ทั้งนี้หากไม่มีรายได้เลย ประชาชนจะมีเงินสำรองฉุกเฉินต่อไปได้น้อยกว่า 1 เดือน ร้อยละ 48.32 โดยมีแนวทางการรับมือ คือ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ร้อยละ 77.37 ด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคล พบว่า ส่วนใหญ่มีการวางแผนแต่ไม่ได้ทำต่อเนื่อง ร้อยละ 58.99
สุดท้ายเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ร้อยละ 76.06 ไม่เชื่อมั่น และ ร้อยละ 23.94 เชื่อมั่น

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลโพลประชาชนกังวลกับปัญหาเศรษฐกิจที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และยังสะท้อนให้เห็นความเปราะบางทางการเงินของคนไทยที่เกือบครึ่งหนึ่งมีเงินสำรองฉุกเฉินใช้ได้ไม่ถึง เดือน แม้จะมีความพยายามในการลดรายจ่ายหรือพยายามวางแผนการเงิน แต่เมื่อรายได้ไม่พอกับรายจ่ายจึงยังไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้จากผลการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ยังไม่เห็นผลชัดเจนนักก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนด้วยเช่นกัน

ด้านว่าที่ร้อยเอกศักดา ศรีทิพย์ อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรกฎหมายมหาชนและบริหารงานยุติธรรม โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า จากปัจจัยการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐ ปัจจัยการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้นักท่องเที่ยวลดลง ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้เป็นองค์ประกอบหลักของ GDP ประเทศไทย ทำให้ประชาชนค่อนข้างกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน กังวลว่าราคาสินค้าจะแพง ค่าครองชีพจะสูง หนี้สินครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น และประชาชนส่วนใหญ่มีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินน้อยกว่า 1 เดือน จึงต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง ลดการก่อหนี้ใหม่ เก็บออมเงินมากขึ้น เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจ


ทั้งนี้ การที่ประชาชนระมัดระวังการจับจ่ายมากขึ้น จะทำให้การบริโภคชะลอตัวเท่ากับเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจภายในประเทศ อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic Recession) ทางออกคือเจรจากับสหรัฐ ทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าไม่ขาดดุล แต่ไทยก็ต้องไม่เสียเปรียบ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐอเมริกา

ด้าน นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ข้อมูลล่าสุดจาก Alipay และแอปพลิเคชันในเครือ Alipay+ ระบุว่า “ประเทศไทย” ยังคงครองตำแหน่งท็อป 5 จุดหมายปลายทางยอดนิยม ของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงวันหยุดยาว วันแรงงาน และเทศกาล Golden Week ที่ผ่านมา โดยจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวจีน ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเก๊า เกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฝรั่งเศส แคนาดา และอิตาลี ทั้งนี้ ความนิยมของประเทศไทยเกิดจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งระบบการชำระเงินผ่าน Alipay ที่รองรับนักท่องเที่ยวจีนได้อย่างสะดวกสบาย ครอบคลุมทั้งร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และระบบขนส่ง

อีกทั้งยังมีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรมที่น่าประทับใจ และการต้อนรับอย่างอบอุ่นของคนไทย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่าในไตรมาสแรกของปี 2568 (2025) ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วกว่า 9.5 ล้านคน (9,549,004 คน) โดย “จีน” ยังคงเป็นประเทศต้นทางอันดับหนึ่ง มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 1,331,434 คน รองลงมาคือ มาเลเซีย 1,153,496 คน รัสเซีย 722,202 คน อินเดีย 543,770 คน เกาหลีใต้ 497,930 คน เยอรมนี 341,242 คน สหราชอาณาจักร 335,116 คน สหรัฐอเมริกา 320,631 คน ญี่ปุ่น 316,744 คน และฝรั่งเศส 315,116 คน ตามลำดับ


อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาความเชื่อมั่นและเพิ่มความประทับใจของนักท่องเที่ยว รัฐบาลเตรียมจัดกิจกรรมพิเศษ “Sawasdee Ni Hao” ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2568 เพื่อเชิญผู้ประกอบการและสื่อมวลชนจากจีนมาเยือนประเทศไทยและสัมผัสประสบการณ์จริง อันเป็นการกระชับความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม

“รัฐบาลมุ่งมั่นในการยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวไทยในทุกมิติ ทั้งด้านความปลอดภัย การอำนวยความสะดวก และการยกระดับบริการให้ทันสมัย เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ของโลก และสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง” นางสาว ศศิกานต์ระบุ