พิษภาษีทรัมป์ สภาพัฒน์ หั่นเป้าจีดีพีไทยปี 68 เหลือโต 1.8% หลังไตรมาสแรกโต 3.1% รั้งท้ายในอาเซียน ด้านส.อ.ท.เผย ภาษีทรัมป์-แผ่นดินไหวฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ เม.ย.ร่วงเหลือ 89.9 เดินหน้าชงรัฐคุมเข้มสินค้าสวมสิทธิ์-เร่งเจรจา FTA
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.68 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2567 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2568ขยายตัวจากโตรมาสที่สีของปี 2567 ร้อยละ 0.7 โดยเศรษฐกิจในไตรมาสนี้มาจากด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและการลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลชะลอตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่อง
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.3 - 2.3 (ค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 1.8) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายลงทุนภาครัฐ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของของการบริโภคภาคเอกชน ท่ามกลางอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปียังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มชะอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และผลกระทบจากการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคเกษตร ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคจะขยายตัวร้อยละ 2.4 และการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.7 ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ.ขยายตัวร้อยละ 1.8 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.0 - 1.0 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดลร้อยละ 2.5ของ GDP
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ที่เติบโต 3.1% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำสุดใน 5 ประเทศชั้นนำของอาเซียน ดังนี้ เวียดนามเติบโต +6.9% อินโดนีเซียขยายตัว +4.8% มาเลเซียเพิ่มขึ้น +4.4% และสิงคโปร์ขยายตัว +3.8%
ด้าน นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมด้วยนายพิภพ โชควัฒนา กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และรองประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2568 อยู่ที่ระดับ 89.9 ปรับตัวลดลง จาก 91.8 ในเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งเป็นผลจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวจากวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้จำนวนวันทำงานลดลง ประกอบกับมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กระทบการส่งออก เช่น อัตราภาษีนำเข้าเฉพาะกลุ่มสินค้า (Sectoral Tariff) 25% ในกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนและอะไหล่ยนต์, เหล็กและอลูมิเนียม และการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) ในสินค้าแผงโซลาร์เซลล์ 375% (เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568) รวมถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวส่งผลให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์แนวดิ่ง และกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งสินค้านำเข้าจากจีนและปัญหาการสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้าไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 20.07%YoY (ณ ช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2568) กระทบภาคการผลิตในประเทศ อีกปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้ ปรับตัวลดลง คือ เรื่องของการส่งออกรถยนต์มีแนวโน้มลดลง โดยในเดือนมีนาคม 2568 การส่งออกลดลง -9.36% (YoY) จากมาตรการขึ้นภาษีรถยนต์
ทั้งนี้จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,359 ราย ครอบคลุม 47 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนเมษายน 2568 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ 58.4% เศรษฐกิจโลก 58.0% และสถานการณ์การเมืองในประเทศ 44.0% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) 36.2% ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 25.0% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 14.9%
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.75% ต่อปี ช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการและเพิ่มกระแสเงินสดให้กับธุรกิจ สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1.เสนอให้ภาครัฐเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามาสวมสิทธิ์ใช้ประเทศไทยในการส่งออก เช่น การออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (C/O) การตรวจสอบกระบวนการผลิตและการนำเข้า/ส่งออกสินค้าสำเร็จรูปในพิกัดศุลกากรเดียวกัน และติดตามพฤติกรรมการค้าของผู้ประกอบการที่มีการส่งออกไปสหรัฐฯ 2.เสนอให้ภาครัฐจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการตลาดและการส่งออกครบวงจรในระดับภูมิภาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงตลาด รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local content) และ3.สนับสนุนภาครัฐในการเจรจาความร่วมมือความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement - FTA) ตามแผนเพื่อเปิดตลาดสินค้า การค้าและการลงทุนในระดับสูง เช่น ไทย สหภาพยุโรป (EU), ไทย เกาหลีใต้ (KTEPA), ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CEPA) และ อาเซียน แคนาดา (ACAFTA)