“กมธ.ป.ป.ช.” ลุยสอบปม ฮั้ว สว. จ่อเรียก “ผู้ร้อง-กกต.” ให้ข้อมูลคณะกรรมาธิการฯ 15 พ.ค. นี้ “ภูมิธรรม” ส่งคำชี้แจงให้ศาลรธน.แล้ว ปมถูกยื่นถอดถอน “คดีฮั้วสว.” ยันทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ขณะที่ “กมธ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ สว.” เคาะตั้ง 2 อนุ กมธ. ศึกษาผลกระทบฯ พร้อมทำหนังสือถึง “นายกฯ-อดีตนายกฯ-อดีตปธ.สภา” ชี้แจงสัปดาห์หน้า ส่วน “ทักษิณ” ขึ้นศาลไต่สวนขอออกนอกประเทศอีกครั้ง ด้าน บอร์ดแพทยสภา ถกจริยธรรมแพทย์ ปมเอื้อ “ทักษิณ” รักษาตัวชั้น 14
เมื่อวันที่ 8 พ.ค.68 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ไม่พบว่ามี สว.คนใดเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา ภายหลังมีข่าว ว่า กกต.เตรียมลงดาบ 60 สว.ที่ทุจริตฮั้วเลือก สว. และเตรียมยื่นศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิ์ มีเพียงนายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋นบุรีรัมย์ ที่มายื่นข้อมูลเพิ่มเติม
ส่วน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องจาก สว. พิจารณาความเป็นรัฐมนตรีของนายภูมิธรรม และศาลได้สั่งให้ส่งคำชี้แจง ได้ชี้แจงไปอย่างไรบ้าง ว่า ตนก็พูดในสิ่งที่เป็นจริง ยืนยันตามสิ่งที่ตนได้กระทำไป ทั้งนี้ ตนเข้าไปในเรื่องนี้ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ (กพค.) ซึ่งได้มีการเรียกประชุมและมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นในที่ประชุม จึงได้ทบทวนและให้รับข้อโต้แย้งมาพิจารณา ว่าหากคดีเรื่องฮั้ว สว. มีการซ้อนกัน ก็ควรจะแยกคดี ต่างคนต่างทำ และหลังจากนั้น ตนก็ให้ปฏิบัติตามกฎหมายก็เท่านั้นเอง ตนทำในส่วนอำนาจหน้าที่ของตน
เมื่อถามว่า ขณะนี้กระบวนการของศาลถึงไหนแล้ว ได้มีการเรียกมาไต่สวนหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่มี เมื่อศาลได้พิจารณาแล้วก็ตัดสินใจ แต่หากศาลจะไต่สวน ตนก็พร้อมไป แต่ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งวันนัด
“ยืนยันว่าผมมีความบริสุทธิ์ใจ และปฏิบัติหน้าที่ตามที่มีอำนาจหน้าที่ มอบหมายก็ดำเนินการไป และผมไม่เชื่อว่า กระบวนการที่ผมดำเนินการไป จะเป็นปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าคิดว่าเนื้อหาที่ผมทำไป มีปัญหา ศาลก็คงวินิจฉัยและพิจารณา” นายภูมิธรรม กล่าว
เมื่อถามว่า ศาลได้มีการเรียกหลักฐานเพิ่มเติมหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่มีอะไร ตนก็แสดงในสิ่งที่เป็นวาระการประชุม และพูดถึงเจตนารมณ์ รวมถึงสิทธิหน้าที่ ตนไม่ได้ทำโดยพลการ
เมื่อถามถึงกรณีที่ ส.ว.ยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบนายภูมิธรรม รวมถึงบอร์ด กพค. ได้มีการเชิญไปชี้แจงหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่มีเลย แต่ถ้ามีข้อสงสัยในทางกฎหมาย หากเรียกมาตนก็ยินดีไปเจออยู่แล้ว
ทางด้าน นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทยและประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกระแสข่าวการตรวจสอบการอั้วเลือก ส.ว. ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังตรวจสอบอยู่ว่า กระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการฮั้วเลือก ส.ว. เป็นเรื่องที่กระทบโดยตรงต่อฝ่ายนิติบัญญัติ หากเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง มีความพยายามที่จะยึดวุฒิสภา ด้วยการจัดตั้งให้พรรคพวกตัวเองเข้ามาเป็น ส.ว. จำนวนมาก เพื่อหวังผลประโยชน์ในทางการเมืองนั้นไม่เพียงไม่เคารพกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความเสียหายต่อฝ่ายนิติบัญญัติและประชาธิปไตย
นายฉลาด กล่าวว่า ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ เห็นว่าการทุจริตการเลือก ส.ว.เป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นจึงเชิญผู้ร้องในพื้นที่จังหวัดต่างๆ อาทิ จังหวัดอำนาจเจริญ รวมไปถึง กกต. มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯ ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง โดยเฉพาะกระบวนการและขั้นตอนที่นำไปสู่การทุจริต รวมไปถึงช่องว่างช่องโหว่ทางกฎหมายที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งจะเป็นบทสรุปสำคัญในการที่เราจะนำไปสู่การปรับแก้ไขปิดช่องว่างเหล่านั้น เพื่อทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นได้
นายฉลาด กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในการตรวจสอบการทุจริตการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ได้เชิญผู้ว่า สตง. และผู้บริหาร สตง. มาให้ข้อมูลมาแล้วนั้น ในสัปดาห์นี้คณะกรรมาธิการฯ จะดำเนินการต่อเนื่องด้วยการเชิญกรมบัญชีกลางมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มเติม ในวันที่ 14 พฤษภาคม อีกครั้ง
ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) วุฒิสภา วาระพิจารณาวางกรอบแนวทาง รวมถึงการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ ซึ่งมีนายวีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธานการประชุม โดยที่การประชุมได้มีการหารือถึงหัวข้อหลักในการศึกษา 3 เรื่อง คือ สังคม เศรษฐกิจ และกฎหมาย รวมถึงนิยามคำว่า "สถานบันเทิงครบวงจร" เนื่องจากมีการเสนอว่า อยากให้ใช้คำตรงๆ เพราะจะสามารถสื่อความหมายได้มากกว่า ตลอดจนการเพิ่มคำว่า "การพนัน" ที่หมายรวมถึงการพนันทุกชนิด และการพนันออนไลน์ เข้าไปด้วย เช่น เสนอให้ใช้ "สถานบันเทิงครบวงจรที่มีบ่อนกาสิโน หรือการพนันทุกรูปแบบ รวมทั้งการพนันออนไลน์", ให้ใช้ชื่อ "สถานบันเทิงครบวงจรที่มีบ่อนกาสิโน" สั้นๆ แล้วจึงเติมรายละเอียดในบทนำเพิ่มแทน, ให้เขียนเพิ่มความหมายไว้ในนิยามศัพท์ ว่าจะหมายรวมถึงการพนันทุกรูปแบบ ดังนั้น จึงใช้คำว่า "สถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนและพนันออนไลน์" ซึ่งสอดรับตามร่างกฎหมายของรัฐบาล และหากเกิดกรณีต้องมีการทำประชามติ จะได้ป้องกันการเกิดความสับสนในการตอบคำถาม
สำหรับการถกเถียงเรื่องข้อกฎหมาย ในช่วงแรกมีการเสนอให้แยกออกมา เป็นอีกหนึ่งคณะอนุกรรมาธิการ เพื่อศึกษากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การขายสุรานอกเวลา พระราชบัญญัติโรงแรม การจัดโซนนิ่ง รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายการพนันเดิม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วยให้มีการแยก เนื่องจากกังวลว่า อาจทำให้ลดทอนความสำคัญเรื่องกาสิโนไปนอกจากนั้น ยังมีการเสนอเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมในหมวดของผลกระทบทางด้านสังคมและกฎหมาย และอาจมีฝ่ายการเมืองที่คุมเสียงในสภา สามารถล้มกฎหมายของได้ แต่ไม่สามารถล้มรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้คำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย
สุดท้ายที่ประชุมมีมติ ตั้งคณะอนุกรรมาธิการจำนวน 2 คณะ ดังนี้ 1.คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาผลกระทบทางสังคมและกฎหมายของการมีสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนและพนันออนไลน์ (รวมถึงสิ่งแวดล้อม การผังเมือง ประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ และการทำประชาพิจารณ์ ตามมาตรา 77 ) ซึ่งมีนายนิพนธ์ เอกวานิช สว. เป็นประธาน และ 2.คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาผลกระทบทางเศรฐกิจของการมีสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนและพนันออนไลน์ ซึ่งมีนายสรชาติ เป็นประธาน
ทั้งนี้ ระหว่างการประชุม ยังมีการยืนยันถึงเรื่องความเป็นกลาง อย่าพิจารณาโดยมีธงในใจ นำเสนอในภาพรวม เมื่อการศึกษาครบถ้วนรอบด้านแล้ว สว.ทั้งหมด จะได้นำมาชั่งตวงวัด และส่งไปยังรัฐบาล เพื่อให้เกิดการยอมรับ รวมถึงจะได้สามารถตอบกับประชาชนได้ ป้องกันการถูกถามกลับ ว่าถ้าไม่เอาแล้วจะมาศึกษากันทำไม
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตามกรอบเวลาเดิม 180 วัน ที่ประชุมมีความเห็นว่า อยากให้เร่งรัดจัดทำร่างรายงานให้เสร็จก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคม เนื่องจากจะมีการเปิดสมัยประชุมในต้นเดือนกรกฎาคม จึงกังวลว่า ทางรัฐบาลอาจจะเสนอกฎหมายเข้ามาก่อน
ภายหลังการประชุม นายวีระพันธ์ แถลงว่า ยอมรับถึงกรณีข้อถกเถียงเรื่องการเพิ่มนิยามคำว่า "สถานบันเทิงครบวงจร" และมองว่าดี ที่มีความเห็นหลากหลาย ดังนั้น จึงต้องล้างความเห็นส่วนตัวทั้งหมด ต้องเป็นกลางที่สุด เพื่อรับฟังความเห็นทุกด้าน ตลอดจนการหารือเรื่องการทำประชาพิจารณ์ แต่ยังไม่มีการกำหนดว่า จะมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร สำหรับการประชุมครั้งหน้า คณะกรรมาธิการฯ จะเชิญ คณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งตนอยากให้นายกรัฐมนตรีมาเอง ยืนยันว่า ไม่ได้บังคับ เพียงแต่เชิญไปตามระเบียบ ส่วนนายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้รัฐมนตรีท่านใดมาชี้แจงแทนก็ได้ รวมถึงยังมีการเสนอให้เชิญอดีตนายกรัฐมนตรี เช่น นายทักษิณ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายชวน หลีกภัย นายเศรษฐา ทวีสิน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อาทิ นายชวน หลีกภัย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ด้วย
วันเดียวกัน ที่ศาลอาญา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลย คดีดูหมิ่นสถาบัน ได้เดินทางมายื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยนายทักษิณเดินทางมาด้วยรถยนต์โรลส์-รอยซ์ สีดำ พร้อมกับนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ และทีมทนายความ จากนั้นนายทักษิณได้เดินทางกลับ โดยใช้เวลาไม่นาน
ส่วนที่อาคารมหิตลาธิเบศร กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภานัดประคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ ซึ่งเป็นประชุมประจำเดือนพฤษภาคม โดยหนึ่งวาระของการประชุมวันนี้ คือการนำเสนอผลสรุปการสอบสวนจริยธรรมแพทย์ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองของแพทยสภา กรณีการพักรักษาตัวของนายทักษิณ ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ