“สมศักดิ์” ลุยต่อจังหวัดเชียงใหม่ เปิด”โครงการบริการทุกช่วงวัย” หลัง นายกฯ Kick off ใหญ่เมื่อเช้า เดินหน้า ยกระดับเข้าถึงบริการสาธารณสุข-ลดระยะเวลารอคอย-ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ย้ำ ขับเคลื่อน NCDs เพราะหวั่นใช้งบ 30 บาท สปสช.หมด จึงเร่งลดผู้ป่วย-ประหยัดงบ ปลื้ม อสม.สอบนับคาร์บเกินครึ่งทาง ได้ 26 ล้านรายแล้ว พร้อม เปิดอบรมเสริมสร้างศักยภาพผู้บริหารสาธารณสุขอำเภอระดับสูง รุ่นที่ 3

วันที่ 1 พ.ค.2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม Kick off โครงการบริการทุกช่วงวัยด้วยความห่วงใยจากกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายศิวะ ธมินกานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ น.ส.ศรีโสภา โกฏคำลือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และ อสม. เข้าร่วม ที่โรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ลดระยะเวลารอคอยการรับบริการ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงการดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านการส่งเสริม คัดกรอง ป้องกัน และดูแลรักษาโรค ที่เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนไทย ตนจึงมีความยินดีที่ได้มาเปิดกิจกรรม Kick off โครงการบริการ ทุกช่วงวัย ด้วยความห่วงใยจากกระทรวงสาธารณสุข ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันนี้ ต่อเนื่องกับการ Kick off โครงการครั้งแรก ที่จังหวัดนนทบุรี ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีให้เกียรติเป็นประธาน ในช่วงเช้าของวันนี้ โดยตนเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะช่วยยกระดับการส่งเสริม สุขภาพและป้องกันโรค ทำให้พี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนต่อไป

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อน อสม.มั่นคง เพราะพรรคเพื่อไทย ได้เสนอร่างกฎหมายของ อสม. ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ทำกฎหมายเสนอผ่านคณะรัฐมนตรี เช่นเดียวกัน ซึ่งการทำกฎหมายเสนอผ่าน ครม.ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องถูกตรวจสอบหลายหน่วยงาน จึงทำให้ร่างกฎหมาย อสม.ของ สส.เข้าไปรอในสภาฯหลายเดือนแล้ว ทาง สส.พรรคเพื่อไทย จึงมาเร่งรัดตน โดยที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้ช้า แต่เรื่องไปติดที่กองทุนหมุนเวียน ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ต้องไปชี้แจงถึง 7 ครั้ง โดยพอท่านนายกฯทราบ ก็ช่วยเต็มที่ จนผ่านครม.แล้ว และถ้าโชคดี ปลายเดือนพ.ค.นี้ จะมีการประชุมสภา ก็อาจนำเรื่อง พ.ร.บ.อสม.เข้าที่ประชุมสภาได้ ซึ่งการทำกฎหมายแต่ละฉบับต้องใช้เวลามาก อย่างเร็วสุด 1 ปีครึ่ง แต่ขณะนี้ พ.ร.บ.อสม. ใช้เวลาไปแล้ว 6 เดือน ตนก็จะช่วยผลักดันอย่างเต็มที่

“ที่ผมตั้งใจขับเคลื่อน NCDs เนื่องจากใช้เงิน 30 บาทของ สปสช.ไปจำนวนมาก ซึ่ง 30 บาท ได้ถูกต่อยอดมาจากสมัยอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร และอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนปัจจุบันเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ ตนจึงขอให้ช่วยกันรณรงค์ลดโรค NCDs เนื่องจากกลัวเงิน 30 บาท ไม่พอใช้ เพราะ NCDs ได้ใช้เงินไปจำนวนมาก ดังนั้น ถ้า อสม.ช่วยรณรงค์ ก็จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วย และช่วยลดงบประมาณได้ ซึ่งถ้า อสม.ช่วยรณรงค์นับคาร์บได้ตามเป้า 50 ล้านคน ผมก็จะให้มีการตรวจสุขภาพ อสม. โดยในขณะนี้ อสม.ทำได้ 26 ล้านรายแล้ว ซึ่งเกินครึ่งทางแล้ว” รมว.สาธารณสุข กล่าว

จากนั้น นายสมศักดิ์ ได้มอบเครื่องช่วยฟัง ให้กับผู้สูงอายุ 10 ราย พร้อมเยี่ยมชมคลินิกรักษ์ไต โรงเรียนรักษ์ไต ซึ่งเป็นโมเดลชะลอไตเสื่อมในชุมชนชาติพันธุ์ โรงพยาบาลแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยโมเดลนี้ มีการแบ่งระยะของโรคไต จำนวน 5 ระยะ และมีวิธีชะลอไตเสื่อมของแต่ละระยะด้วย

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า กระทรวงสาธารณสุข เห็นค่าใช้จ่ายโรค NCDs จำนวนมาก รวมถึงอาคารสถานที่รับผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ ก็มีจำนวนรองรับผู้ป่วย 304 ล้านครั้ง/ คน ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องลดจำนวนผู้ป่วย ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคคาร์โบไฮเดรตให้พอดีต่อร่างกาย ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยได้จำนวนมาก และจะสอดรับกับระยะเวลาที่กระทรวงสาธารณสุข กำลังเร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

จากนั้น นายสมศักดิ์ ได้เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมและปาฐกถาพิเศษ ในการอบรมเสริมสร้างศักยภาพผู้บริหารสาธารณสุขอำเภอระดับสูง รุ่นที่ 3 ปีงบประมาณ 2568 ครั้งที่ 1 ที่โรงแรมดิเอ็มเพรสเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขกำหนดนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs โดยผลักดันแนวคิดเวชศาสตร์วิถีชีวิต และสุขภาพองค์รวม สู่การปฏิบัติ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาโรค NCDs เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด ไตเรื้อรัง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน เป็นอย่างมาก

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนนโยบาย คนไทยห่างไกล NCDs ผ่าน 3 กลไกหลักที่สำคัญ ได้แก่ 1.ศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ระดับตำบล 2.คลินิก NCDs รักษาหาย ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และ 3.ศูนย์ป้องกันโรคไม่ติดต่อในชุมชน (หรือ NCDs Prevention Center) ระดับอำเภอทุกแห่งทั่วประเทศ ดังนั้น สาธารณสุขอำเภอ จึงเป็นกลไกสำคัญ ที่จะต้องทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ การอบรมครั้งนี้ จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี ในการผนึกพลังเครือข่ายสาธารณสุขอำเภอทั่วประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านบริหาร ด้านวิชาการ และทักษะสุขภาพแนวใหม่ ช่วยเสริมสร้างศักยภาพ ตามบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงด้านสุขภาพ หรือ Health Coach) ให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่