ศาลฎีกาฯ ยกคำร้อง "ชาญชัย" ปม "ทักษิณ" นอน รพ.ตำรวจ! ชี้ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง! เรียก “ทักษิณ” พร้อม”ผบ.คุก-อธิบดีราชทัณฑ์-หมอรพ.ตร.”ไต่สวน 13 มิ.ย.นี้ “อนุทิน” ย้ำต้องโหวตเหมือนกันทุกพรรค ยันคดี “ทักษิณ” ไม่สร้างแรงกระเพื่อมถึงรัฐบาล แย้มรอนัด “แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” หารือเป็นทางการ เดินหน้า กม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ “กกต.”เชือด‘หมอเกศ’ชงศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อ้างจบด็อกเตอร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เข้าข่ายหลอกลวง

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำสั่งในคำร้องที่ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นขอให้ศาลไต่สวนกรณีกรมราชทัณฑ์อนุญาตให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 8 ปี แต่ได้รับการลดโทษเหลือ 1 ปี ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เข้ารับการรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ผิดขั้นตอนกฎหมายหรือไม่
ทั้งนี้ นายชาญชัยได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลลงวันที่ 19 ธันวาคม 2566และวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 พร้อมทั้งขอให้ไต่สวนการบังคับโทษจำคุกแก่จำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551, อม.10/2552 (จำเลยที่ 1) และ อม.5/2551ตามคำร้องฉบับลงวันที่10 มกราคม 2568


ศาลฎีกาฯ พิจารณาคำร้องและเอกสารแล้ว เห็นว่า นายชาญชัยไม่ใช่คู่ความในคดีดังกล่าว และไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยตรงจากการบังคับโทษจำคุก จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลในชั้นบังคับคดี

อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาฯ ได้เล็งเห็นถึงประเด็นที่สำคัญว่า อาจมีการบังคับโทษที่ไม่เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด จึงมีอำนาจที่จะไต่สวนข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ เพื่อให้การบังคับโทษเป็นไปตามกฎหมาย

ดังนั้น ศาลจึงสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องไปยังโจทก์และจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551, จำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 และจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2551 เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวอ้างในคำร้อง

นอกจากนี้ ศาลยังได้ส่งสำเนาคำร้องไปยังผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการบังคับโทษจำคุกแก่จำเลยว่าเป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดหรือไม่ อย่างไร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 6

ศาลกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แจ้งข้อเท็จจริงพร้อมแสดงหลักฐานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งศาล

สำหรับคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลนั้น ศาลเห็นว่าเมื่อนายชาญชัยไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาล จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาในประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ ศาลได้มีคำสั่งให้นัดพร้อมหรือนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิถุนายน 2568 เวลา 09.30 น.

สำหรับนายทักษิณ มีคดีที่ค้างพิจารณาในศาลอาญา คืด คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้องจากการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเมื่อปี 2558 ส่วนคดีที่ได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการมีคำสั่งไม่รับคำร้อง ประกอบด้วย คดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการล้มล้างการปกครอง โดยมีการร้องเรียนว่าทักษิณและพรรคเพื่อไทยมีพฤติการณ์ดังกล่าว แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เนื่องจากพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 และเรื่องนโยบายเงินดิจิตอลวอลเล็ต ที่มีผู้ร้องเรียนว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฏหมาย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องด้วย

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำสั่ง ตามคำร้องที่ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นขอให้ไต่สวนกรณีกรมราชทัณฑ์อนุญาตให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เข้ารับการรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ว่า ไม่ทราบเรื่องเพราะเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศเลยไม่ได้ติดตาม
เมื่อถามว่า คำสั่งศาลฯในวันนี้จะมีผลหรือแรงกระเพื่อมใดทางการเมืองหรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลนี้ เป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วมตั้ง 5-6 พรรค หัวหน้าพรรค แกนนำ คือนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการถูกต้องเหมาะสมอยู่แล้ว ไม่มีปัจจัยภายนอกอะไรที่จะทำให้เกิดการกระเพื่อม รัฐบาลทำงานอยู่ทุกวัน

นายอนุทิน กล่าวถึง เรื่องการให้ สส.ทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ…. หรือร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ ว่าหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องมีการมาพูดคุยกัน เนื่องจากขณะนี้ทุกพรรคยังไม่ได้หารืออย่างเป็นทางการ และยืนยันในคณะพรรคร่วมรัฐบาลจะสนับสนุนดำเนินตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยเหตุการณ์ที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงถอนร่างกฎหมายจากสภา ก็มีหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วยในทิศทางเดียวกัน ว่าให้ถอนเรื่องออกมาก่อน และเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคอาจจะต้องโหวตก็ต้องโหวตไปในทิศทางเดียวกัน

"ไม่ใช่ว่ามีพรรคใดพรรคหนึ่งบอกติดข้อจำกัดอะไร แล้วขอไม่โหวต แต่ไม่ได้หมายความว่าจะคัดค้านหากจะต้องโหวต ก็ต้องโหวตทั้งหมด หากพรรคใดพรรคหนึ่งไม่โหวตก็ต้องนั่งคุยกันใหม่ จะเห็นว่ามีประชาชาติออกแถลงการณ์มา ว่ายังไม่เห็นด้วย แต่ยังไม่ทราบว่าอย่างไร เพราะหัวหน้าพรรคบอกว่ายังไม่ใช่ พรรคภูมิใจไทยพูดชัดเจนตั้งแต่แรกหากทุกพรรคเห็นพ้องกันหมด ก็ต้องนั่งหารือกัน" นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินยังกล่าวถึงกรณีดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลว่า เจ้าภาพ ครั้งต่อไปคือพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนพรรคภูมิใจไทย เป็นเจ้าภาพไปแล้ว

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมกกต.ได้มีการพิจารณาและมีมติให้ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาตามมาตรา62 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 เพื่อวินิจฉัยสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กรณีกระทำการหลอกลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถหรือชื่อเสียงเกียรติคุณตามมาตรา 77(4)ของกฎหมายเดียวกัน จากเหตุแจ้งว่ามีคุณสมบัติ ด็อกเตอร์ จาก california university ในการยื่นสมัครสว. ตามที่สำนักงานกกต.โดยคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนได้เสนอรายงานผลการตรวจสอบพร้อมความเห็นว่า การจะใช้คำนำหน้าด็อกเตอร์ จะต้องเป็นการไปเรียนจริง และเรียนจบได้วุฒิบัตรมาแล้ว อีกทั้ง california university เป็นมหาวิทยาลัยที่ใช้วิธีให้ส่งรายงาน และการเทียบโอนเกรด ซึ่งยังไม่ได้มีการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทย

สำหรับคดีนี้หลังมีผู้ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบ กกต.มีมติสั่งรับเป็นสำนวนเมื่อ5 ก.ค.67จากนั้นสำนักงานฯได้ดำเนินการสืบสวนไต่สวนและนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมกกต.ครั้งแรก เมื่อ31ต.ค.67 และอีกครั้งในวันที่5พ.ย.67แต่กกต.เห็นว่าข้อมูลยังไม่ครบถ้วนจึงให้สำนักงานฯไปดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม ก่อนที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.จะให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าจะพิจารณาคดีนี้ให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้

ทั้งนี้มาตรา 77(4)ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 กำหนดว่าผู้ใดกระทำการหลอกลวง บังคับขู่เข็ญใช้อิทธิพลคุกคามใส่ร้ายด้วยความเท็จหรือจูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้สมัครใด เพื่อให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปีปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี ซึ่งหากศาลฎีกาประทับรับฟ้อง พญ.เกศกมล จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สว.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

อย่างไรก็ตาม พญ.เกศกมล ยังถูกร้องในเรื่องของฮั้วเลือกสว.ซึ่งกกต. ยังไม่ได้พิจารณา คาดว่าจะถูกรวมพิจารณากับกรณีที่กกต.มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกับเจ้าหน้าที่ DSI สอบกระบวนการฮั้วเลือกสว.ทั้งหมด