ปภ. ติดตามและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ย้ำแนวทางการป้องกันเชิงรุก สร้างความเข้มแข็งชุมชนเสี่ยงภัยให้พร้อมรับมือจากสาธารณภัย
วันนี้ (29 เม.ย. 68) เวลา 13.30 น. นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เพื่อติดตามและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์สาธารณภัยในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมมอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการทำงานแบบเชิงรุก พร้อมรับสถานการณ์ภัยที่อาจรุนแรงมากขึ้น หัวใจหลัก คือ การป้องกันควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนและชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้พร้อมรับมือสาธารณภัยได้อย่างปลอดภัยในเบื้องต้น เพื่อลดผลกระทบจากสาธารณภัยให้ได้มากที่สุด โดยมี นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ นายชัยรัตน์ แก้วเพียงเพ็ญ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหารกรม ปภ. ส่วนกลาง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตภาคเหนือ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมประชุมฯ ณ โรงแรมเฮอริเทจ เชียงราย โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดเชียงราย
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในห้วงที่ผ่านมาประเทศไทยประสบกับสาธารณภัยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายเหตุการณ์สาธารณภัยที่เกิดขึ้นค่อนข้างมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เห็นได้ชัด คือ เหตุการณ์อุทกภัยในปี 2567 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ที่สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก และที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ในห้วงต่อไปที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจากการคาดการณ์ของหน่วยงานด้านการพยากรณ์ พบว่า จะมีฝนตกชุกเพิ่มมากขึ้น และมีความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มได้ โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้จัดประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ในวันนี้ขึ้น เพื่อติดตามและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์สาธารณภัยในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมมอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ทุกรูปแบบ ทั้งภัยที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลและภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความพร้อมปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และทันท่วงที โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นสำคัญ
นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าวต่อว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนภารกิจของ ปภ. ด้านการแก้ไขปัญหาสาธารณภัยและเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือที่อาจจะเกิดขึ้นในห้วงต่อไปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ จึงขอเน้นย้ำแนวทางในการดำเนินการรับมือสาธารณภัยในพื้นที่ โดยให้จังหวัดบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์ เตรียมความพร้อมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยเป็นไปอย่างเข้มข้นครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์และวิธีการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง ตลอดจนประสานฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยสำหรับรองรับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยให้เพียงพอ หากเกิดสถานการณ์ภัยขึ้นในพื้นที่ ให้ช่วยเหลือประชาชนอย่างเหมาะสมและมีเอกภาพ โดยให้ความสำคัญกับการรักษาชีวิตของประชาชนเป็นลำดับแรก และเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
“ปัจจุบันสาธารณภัยที่เกิดขึ้นมีทั้งภัยที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลและภัยจากธรรมชาติ ซึ่งมีความรุนแรงและเกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ปภ. ต้องทำงานแบบเชิงรุก เพื่อเตรียมพร้อมรองรับกับสถานการณ์ภัยที่มีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ โดยจังหวัดจะต้องทบทวนและปรับปรุงแผนเผชิญเหตุระดับพื้นที่ที่ครอบคลุมทุกประเภทภัยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่และเป็นปัจจุบันที่สุด รวมถึงดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนให้ครอบคลุมทุกมิติ ส่วนศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ทั้ง 4 ศูนย์เขตที่รับผิดชอบดูแลจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ต้องเตรียมแผนการปฏิบัติงานไว้ล่วงหน้าให้สอดคล้องกับช่วงเวลาของการเกิดภัย และเตรียมพร้อมทรัพยากร ทั้งเจ้าหน้าที่ เครื่องมืออุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย และประสานการทำงานร่วมกับจังหวัดในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหา ดูแลความปลอดภัย และให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม หัวใจการทำงานของ ปภ. คือ “การป้องกัน” ซึ่งเป็นการทำงานแบบเชิงรุก โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนและชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้มีความพร้อมรับมือสาธารณภัยที่เกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัยในเบื้องต้นด้วยตนเอง ก่อนที่หน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เพื่อลดความรุนแรงของผลกระทบจากสถานการณ์ภัยให้ได้มากที่สุด เพราะความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน คือ หัวใจสำคัญของการจัดการสาธารณภัย” นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าวปิดท้าย