ปภ. บูรณาการจังหวัดเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ย้ำความพร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเต็มกำลังทั้งปฏิบัติการภาคพื้นและทางอากาศ
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องไปถึงฤดูร้อนของทุกปี ประเทศไทยจะเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ รวมถึงเกิดไฟป่าและหมอกควัน ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มีความห่วงใยประชาชน จึงได้สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในมิติเชิงพื้นที่ และสอดคล้องกับกลไกบริหารจัดการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด
โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมทุกด้าน รวมถึงกำหนดแนวทางปฏิบัติและมอบหมายภารกิจอย่างชัดเจน และการเผชิญเหตุอย่างเป็นเอกภาพ โดยมีคณะทำงานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุ โดยประเมินและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัย นำมาวางแผนแนวทางการเผชิญเหตุที่สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยของพื้นที่แบบพุ่งเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงได้เตรียมความพร้อมทรัพยากรทุกด้าน ทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการได้ทันที เมื่อเกิดสถานการณ์ ควบคู่กับการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ มาตรการ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ที่สำคัญ ได้มีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในเชิงพื้นที่ จะมีการมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาและลดการเกิดปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ครอบคลุม 3 ส่วน ทั้งพื้นที่ป่า กำหนดให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในป่า ตามหลักของการจัดการเชื้อเพลิง (fuel management) การจำกัดการเข้าถึงพื้นที่ป่า ส่วนพื้นที่เกษตรกรรม ให้วางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม และแนะนำเกษตรกรให้ทำการเกษตรแบบไม่เผา ส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปแปรรูปใช้ประโยชน์ หรือเพิ่มมูลค่าแทนการเผา ส่วนพื้นที่ชุมชน/ในเขตเมือง ให้ดำเนินการป้องกันและลดการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิดสำคัญ อาทิ การคมนาคม กระบวนการทางอุตสาหกรรม และการเผาในพื้นที่ริมทาง
" ในส่วนของการเตรียมกำลัง ยุทโธปกรณ์ และการสนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัยและอากาศยาน KA-32 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยจะมีการปฏิบัติการทางภาคพื้นดินและทางอากาศร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ปภ.ได้เตรียมพร้อมเครื่องจักรกลปฏิบัติการด้านภัยจากไฟป่าและหมอกควัน ไว้ประจำ ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 18 เขต ทั่วประเทศ รวม 316 หน่วย เพื่อสนับสนุนภารกิจตามแผนเผชิญเหตุของจังหวัด อาทิรถดับไฟป่า รถบรรทุกน้ำ รถยนต์ดับเพลิง พร้อมระบบโฟมอัดอากาศแรงดันสูง รถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล ชุดยานยนต์ดับเพลิงพร้อมระบบควบคุมระยะไกลและอุปกรณ์ สำหรับพื้นที่ภาคเหนือนั้นเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต รวม 5 เขต ได้แก่ ศูนย์ ปภ.เขต 8 กำแพงเพชร เขต 9 พิษณุโลก เขต 10 ลำปาง เขต 15 เชียงราย และเขต 16 ชัยนาท โดยขณะนี้ได้จัดเตรียมเครื่องจักรกลปฏิบัติการ ด้านภัยจากไฟป่าและหมอกควัน รวม 88 หน่วย ซึ่งมีความพร้อมสนับสนุนภารกิจของจังหวัดในการดับไฟป่าและการลดฝุ่นละอองตามแผนเผชิญเหตุของจังหวัด และหากไม่เพียงพอสามารถประสานขอรับการสนับสนุนจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่อื่นเพิ่มเติมได้ สำหรับการปฏิบัติการทางอากาศ ปภ.ร่วมกับกองทัพบกได้เตรียมพร้อมสนับสนุนอากาศยานปีกหมุนของ ปภ. (KA-32) ในการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 2 ลำ โดยเบื้องต้นจะมาประจำ ณ ฐานปฏิบัติการ กองพลทหารราบที่ 7 จำนวน 1 ลำ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม 2568 เป็นต้นไป" นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าวเพิ่มเติม
ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ วันนี้ (6 มกราคม 2568) ที่อาคารยอดทัพ กองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นายจำนง สวัสดิ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร้อยตำรวจตรี สัณฐิติ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วย นายดุสิต พงศาพิพัฒน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมการประชุมนโยบายการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ ประจำปีประมาณ 2568 และร่วมกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 พื้นที่ภาคเหนือ ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมีพลโท กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 เป็นประธานการประชุม พลตรี นภัทร ศรีธนโชติ เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 นายศิวะ ธมิกานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข กองทัพอากาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมฝนหลวงและการบินเกษตรกร กรมป่าไม้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ เข้าร่วมการประชุมฯ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งทุกหน่วยงานจะร่วมกันทำงานกันอย่างเต็มกำลังและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน พร้อมตั้งเป้าหมายว่าประเพณีสงกรานต์ของภาคเหนือในเดือนเมษายน 2568 ปีนี้ อากาศภาคเหนือจะต้องดี แจ่มใส อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยและไม่มีอันตรายต่อสุขภาพของพี่น้องชาวเหนือและนักท่องเที่ยว