สุดเจ๋ง! สสส. สานพลัง คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ชู ผลงาน TIMS ครบรอบ 2 ปี เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนโชว์ผลสำเร็จ 9 งานวิจัย หลังพบ คนไทยมีความพึงพอใจในชีวิตด้านสุขภาพจิตต่ำสุด 4.98% ลุย เดินหน้าสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตอย่างยั่งยืนทั้งไทยและต่างประเทศ
 
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 เม.ย. 2568 ที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS)จัดงานประชุมวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต ที่มุ่งเน้นการประสานพลังทางสังคมเพื่อขับเคลื่อนความรู้ นวัตกรรม และนโยบายสาธารณะ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า  จากผลสำรวจสุขภาวะทางจิตในสังคมไทย ด้านความพึงพอใจในชีวิต ปี 2567 ของ TIMS กับกลุ่มตัวอย่าง 457 คน พบว่า คนไทยมีความพึงพอใจในด้านต่างๆ สูงสุด 3 ลำดับ ได้แก่ ความสัมพันธ์กับผู้อื่น 5.17% ความรู้สึกปลอดภัยในชีวิต 5.13% การทำงานหรือการเรียน 5.11% ส่วนด้านที่มีความพึงพอใจต่ำสุด 3 ลำดับ ได้แก่ สุขภาพกาย 4.98% คุณภาพชีวิตประจำวัน 4.96%สุขภาพจิต 4.98% สสส. จึงได้สนับสนุนการดำเนินงานและการวิจัย ให้สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพ TIMS จัดการความรู้เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพจิต ผลักดันและขับเคลื่อนวัตกรรมและนโยบายสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต รวมทั้งสานพลังภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต และการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม
“ตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับ TIMSพัฒนางานวิชาการ ถ่ายทอดองค์ความรู้ เชื่อมประสานเครือข่ายวิชาการด้านความยั่งยืนทางสุขภาพจิตในสังคมไทย ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนได้จริง  และนำไปต่อยอดเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตได้สำเร็จ รวมทั้งขยายผลในโอกาสต่อไปได้ในอนาคต” รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว  

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิตTIMS กล่าวว่า การประชุมวิชาการในวันนี้ เป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานของ TIMSโดยมีโครงการเด่น 9 โครงการ คือ 1.โครงการระบบนิเวศนโยบายสาธารณะเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต 2.โครงการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษา 3.โครงการการอภิบาลระบบสุขภาพจิตในประเทศไทย 4.โครงการพัฒนาตัวแบบและกระบวนการอาสาสมัครสุขภาพจิตในชุมชน (ม้านั่งมีหู) 5.โครงการการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคลและครอบครัว 6.โครงการพัฒนาเครื่องมือส่งเสริมสุขภาพใจชุมชนด้วยหลักจิตวิทยาเชิงบวกผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ 7.โครงการการพัฒนาระบบและเกณฑ์การคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต 8.โครงการพัฒนาหลักสูตรเสริมพลังอาสาสมัครผู้รับฟังเพื่อส่งเสริมสุขภาพใจในกลุ่มผู้พิการ 9.โครงการพัฒนามาตรวัดความยั่งยืนทางสุขภาพจิต เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพจิตดี และเสริมกลไกการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตในทุกมิติ

ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวต่อว่า สุขภาพจิตเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ได้จำกัดแค่เพียงในมิติของการเจ็บป่วย แต่ครอบคลุมไปถึงมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยตัวอย่างผลการศึกษาของ TIMS เสนอเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมจัดบริการสาธารณะ เช่น การจัดให้มีกิจกรรมทางสังคมอย่างเป็นระบบ (Social Prescribing) ที่สามารถทำงานได้ดีกับผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเล็กน้อยหรือระดับต่ำ ผู้ที่รู้สึกเหงา รู้สึกแปลกแยก โดยเสริมกิจกรรมทางสังคมเข้าไปในระบบระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีอยู่แล้ว ให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยเชื่อมบริการทางสังคมจากภาคสาธารณสุข ภาคสังคม และกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม “TIMS ได้มีการสร้างเครือข่ายการทำงานด้านสุขภาพจิตที่เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้นในประเทศไทย ผ่านการสร้างพันธมิตรและการดำเนินโครงการต่าง ๆ ด้วยการทำงานร่วมกันขององค์กรภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาครัฐผู้ขับเคลื่อนนโยบาย ตลอดจนขยายความร่วมมือไปสู่ต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ลาว เพื่อให้เกิดผลความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (Mental Health Sustainability) ไม่ใช่แค่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่เพื่อให้มีสุขภาวะทางจิตที่พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกยุคใหม่” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว