พบรายจ่ายครัวเรือนคนไทยใช้เงิน 21.5% หมดไปกับค่าซื้อบุหรี่ ตัวการทำสิงห์อมควันคนป่วยตายจากมะเร็งสูงถึง 26.1% สสส. สถาบันยุวทัศน์ ฯ สานพลัง กทม. สานต่อมาตรการคุมยาสูบ ดึงครอบครัว ชุมชน ร่วมแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน ป้องกันตั้งแต่ต้นทาง

 วันที่ 25 เม.ย. 2568 ที่สำนักงานเขตบางแค สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ เนื่องในวันครอบครัว ประจำปี 2568 ภายใต้แนวคิด “สานพลังชุมชน ครอบครัวไทย ป้องกันภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า” พร้อมสานต่อ 3 มาตรการของกรุงเทพมหานคร หวังลดการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชุมชน 


นายพิทยา จินาวัฒน์ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันยาสูบยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการมีสุขภาวะที่ดี โดยข้อมูลจากรายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทยปี 2562 พบปัจจัยเสี่ยงด้านการบริโภคบุหรี่/ยาสูบ เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิตของคนไทย สูงถึง15.6% และบุหรี่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุดคือ 22,561 คน คิดเป็น 26.1% ของการเสียชีวิตจากบุหรี่/ยาสูบทั้งหมด นอกจากนี้ จากข้อมูลจากการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ประเด็นพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย ปี 2566 ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ ยท. สำรวจเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี 61,688 คน พบเยาวชนทั่วประเทศสูบบุหรี่ไฟฟ้า 25% คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด โดยเขตสุขภาพที่ 13 หรือกรุงเทพฯ เป็นเขตสุขภาพอันดับที่ 5 ที่มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเกินกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 32.3% ซึ่งพื้นที่กรุงเทพฯ พบร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าใกล้สถานศึกษามากที่สุดในประเทศ

 

“ข้อมูลรายจ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนไทยปี 2566 พบว่า ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปโภคบริโภคถึง 87% มีรายจ่ายสูงสุด คือ อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ คิดเป็น 35.5% โดยเฉพาะครอบครัวผู้มีรายได้น้อยมีค่าใช้จ่ายการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่าครอบครัวรายได้สูงถึง 6 เท่า และใช้เงิน 21.5% ของรายได้หมดไปกับการสูบบุหรี่ ทำให้เหลือเงินสำหรับใช้จ่ายด้านอื่นที่จำเป็นน้อยลงก่อให้เกิดหนี้สินเพิ่มขึ้น ดังนั้น ครอบครัวและชุมชน จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญของการแก้ไขทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะเด็กและเยาวชนใช้ชีวิต 8 ชั่วโมงหมดไปกับการพักผ่อน 8 ชั่วโมงอยู่ในสถาบันการศึกษา และอีก 8 ชั่วโมงอยู่กับครอบครัว โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาได้ทำหน้าที่เติมเต็มความรู้อย่างต่อเนื่องแล้ว ดังนั้นครอบครัวจึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของ สสส. เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมถึงส่งเสริมบทบาทครอบครัวในการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน” นายพิทยา กล่าว 

 

ดร.วิลาวัลย์ ธรรมชาติ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  กทม. โดยสำนักอนามัย และสำนักการศึกษา ได้พัฒนาความร่วมมือการทำงานกับยท. และ สสส. ในการสร้างการรับรู้ประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เช่น จัดนิทรรศการในศูนย์การค้าหลายแห่ง ทำงานเชิงรุกร่วมกับสำนักงานเขตต่าง ๆ เช่น สำนักงานเขตยานนาวา สำนักงานเขตทุ่งครุ สำนักงานเขตดินแดง และล่าสุดได้กำหนดให้ “ครอบครัวและชุมชน” เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน เพราะครอบครัว เป็นหน่วยขนาดเล็กที่สุดของสังคม เป็นผู้สร้างและกำหนดสถานภาพ สิทธิ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม และมีความสำคัญต่อการดูแลบุตรหลาน สนับสนุนให้การศึกษา ที่อยู่อาศัย ฝึกอาชีพ เพื่อไปประกอบกิจการหรือทำงานสร้างรายได้ต่อในอนาคต ทั้งนี้หากครอบครัวขาดความรู้หรือความเข้าใจ หรือการมีส่วนร่วมต่อสภาพปัญหาของลูกหลานตนเอง ก็อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมตามมาได้อีกเป็นจำนวนมาก

 ขณะที่นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้เชิญประธานชุมชนจาก 48 ชุมชน ผู้แทนผู้ปกครอง เครือข่ายผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อรับฟังข้อมูลทางการแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ และจัดให้มีกระบวนการแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมทั้ง ยท. ยังได้จัดทำและมอบชุดนิทรรศการขนาดพกพาสำหรับนำไปจัดแสดงในพื้นที่ชุมชนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อประสิทธิภาพของการเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชนอีกด้วย