คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ 4 สถาบันอุดมศึกษาไทย จัดเสวนา “ทิศทางอิสลามศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทย” ระดมแนวคิดและกำหนดทิศทางของอิสลามศึกษาในยุคสมัยใหม่

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิทยาการอิสลาม วิทยาเขตปัตตานี จัดการประชุมเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “ทิศทางอิสลามศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทย” โดยได้รับความร่วมมือจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำที่เปิดสอนหลักสูตรด้านอิสลามศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวทางและความท้าทายของการจัดการศึกษาอิสลามในบริบทของสังคมร่วมสมัย โดยมี พญ. เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความคาดหวังของกระทรวง อว. ต่อทิศทางการจัดการศึกษาและวิจัยด้านอิสลามศึกษาในประเทศไทย” ซึ่งมี รศ. ดร.มูฮัมหมัดอาฟีฟี อัซซอลีฮีย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม กล่าวรายงาน และมี ผศ. ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รวมถึงคณะผู้บริหารและแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมอัลอัยยูบีย์ ชั้น 5 อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ คณะวิทยาการอิสลาม วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอิสลามศึกษาในระดับอุดมศึกษา ในฐานะกลไกสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยกระทรวงฯ มุ่งสนับสนุนการบูรณาการองค์ความรู้ทางศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจและสังคม เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และตอบโจทย์อนาคตของประเทศ

ขณะที่ ผศ. ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวด้วยว่า เวทีในครั้งนี้ไม่เพียงเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสถาบัน แต่ยังมีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในระดับอุดมศึกษาไทย ให้เกิดเอกภาพและประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในด้านงบประมาณ การบริหารจัดการ และวิชาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อผู้เรียนและสังคมโดยรวม สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาไทย ในการร่วมกันกำหนดอนาคตของอิสลามศึกษาให้เท่าทันยุคสมัย เป็นพลังสร้างสรรค์ และยั่งยืนในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดทิศทางที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการศึกษาอิสลามให้มีคุณภาพ ทันสมัย และตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ภายในการประชุมเสวนาวิชาการได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลัก ได้แก่ ช่วงที่ 1 การนำเสนอแนวทางการจัดการศึกษาและวิจัยอิสลามศึกษา จากผู้ทรงคุณวุฒิ 4 สถาบัน ประกอบด้วย ผศ. ดร.มูหัมมัดรอฟลี แวหะมะ คณบดีคณะวิทยาการอิสลาม ม.อ. ปัตตานี, ศ. ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเกริก, รศ. ดร.มูฮามัสสกรี มันยูนุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และ รศ. ดร.อานิส พัฒนปรีชาวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยประเด็นหลักของการนำเสนอ ได้แก่ สถานการณ์ปัจจุบันของการศึกษาอิสลาม ความท้าทายในการรักษาอัตลักษณ์ทางศาสนา การพัฒนาหลักสูตรที่สอดรับกับสังคมสมัยใหม่ และโอกาสของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ และช่วงที่ 2 การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เปิดเวทีถาม-ตอบ และระดมแนวคิดจากผู้เข้าร่วมเสวนา ทั้งจากภาควิชาการและภาคปฏิบัติ เพื่อสรุปข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาอิสลามศึกษาในอนาคต