วันที่ 21 เม.ย. 2568 เวลา 15.00 น. นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง มอบหมายให้ ว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และน.ส.จริยาพร จิตต์ใจมั่น รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมสนับสนุนข้อมูลให้ น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการเข้าเยี่ยมคารวะ ของ น.ส.อานาคลาวเดีย รอสบัค (Ms. Anacláudia Rossbach) รองเลขาธิการ UN และผู้อำนวยการบริหารของ UN-Habitat และคณะ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมี นางสาวอรอุมา วรแสน ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุเทพ ประเทืองโภคเจริญ ผู้อำนวยการสำนักผังประเทศและผังภาค น.ส.รัฐติการ คำบุศย์ นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานวิเทศสัมพันธ์ กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมสนับสนุนข้อมูล ณ ห้องดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทย
การร่วมหารือครั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวย้ำความมุ่งมั่นของกระทรวงมหาดไทย ที่ดำเนินนโยบายและแผนงานอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย SDGs ผ่านการวางผังเมืองในระดับจังหวัดและระดับภาคอย่างบูรณาการ เน้นการพัฒนาเมือง การวางโครงสร้างพื้นฐาน การจัดบริการสาธารณะ และการจัดสรรการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองในอนาคต ด้วยกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำผังเมือง อย่างโปร่งใส สอดคล้องความต้องการของชุมชน และสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเมืองกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม มองปัญหาและโอกาสของเมืองอย่างสมดุล
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายที่ชัดเจนในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อาทิ การจัดหาน้ำดื่มสะอาดและบริการพื้นฐานที่เข้าถึงได้ฟรี รวมถึงการบูรณาการเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart Technology) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบตรวจจับน้ำรั่ว การจัดการขยะ และการบริหารจัดการน้ำ ที่สอดรับกับวิถีชีวิตในยุคปัจจุบัน ป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการหารือร่วมกันในครั้งนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการเร่งรัดความก้าวหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ด้าน Ms. Anacláudia Rossbach รองเลขาธิการ UN และผู้อำนวยการบริหารของ UN-Habitat ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1. กล่าวเน้นถึงความท้าทายของความเป็นเมืองภายใต้ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเมืองสามารถใช้โอกาสเหล่านี้ได้ด้วยการมองภาพรวมอย่างสมดุลและการวางแผนอย่างรอบคอบ 2. นำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศไทยในการวางแผนอย่างบูรณาการและมีส่วนร่วม ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) บนเวทีโลก เช่น WUF 13
3. การเป็นผู้นำในการพัฒนาเมืองตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Cities) ในประเทศไทย โดยต่อยอดจากนโยบายและแนวทางของกระทรวงมหาดไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเห็นว่าจังหวัดอุดรธานีสามารถเป็นต้นแบบให้กับเมืองอื่น ๆ ได้ จากรายงาน VLR และดัชนีคุณภาพชีวิต 4. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วยเทคโนโลยีโดยไม่ละเลยองค์ประกอบด้านมนุษย์ ภายใต้แนวคิด “เมืองอัจฉริยะที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง” โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบน้ำและน้ำเสีย เป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาเมือง
ทั้งนี้ Ms.Anacláudia Rossbach ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อตอบสนองเป้าหมาย SDG11 ทั้งยังกล่าวชื่นชมหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่สามารถเป็นแนวทางและตัวอย่างที่ดีอย่างยิ่งในการสนับสนุนการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน