ผอ.สปภ.กทม. เผย ยอดความสูงซากตึกสตง.ลดเหลือ 12.45 ม. ชุดปฏิบัติการค้นหาพบเพิ่ม 6 ร่างรอพิสูจน์อัตลักษณ์ ชี้ผู้เชี่ยวชาญประเมินไร้โพรงใหญ่ใต้ซากอาคาร
วันที่ 18 เมษายน ที่บริเวณจุดเกิดเหตุอาคาร สตง. นายสุริยชัย รวิวรรณผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แถลงความคืบหน้ากรณีการกู้ซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) แห่งหใหม่ถล่ม ว่า วันนี้ยอดความสูงของอาคารสตง.ที่มีความสูงเมื่อวานอยู่ที่ 13.05 เมตร ตอนนี้ยอดความสูงตรวจสอบเมื่อเวลา 09:00 น.ลดลงมาเหลืออยู่ที่ 12.45 เมตร ซึ่งเป็นยอดบริเวณด้านหน้าติดกับโซน B
ซึ่งบริเวณด้านหลังโซน C เจ้าหน้าที่ได้มีการขุดลึกเพิ่มลงไปประมาณ 3 เมตร ซึ่งพบร่างผู้เสียชีวิตตั้งแต่เมื่อวาน (17 เม.ย.) ส่วงเย็น 2 ร่างครึ่ง รวมทั้งหมดเป็นประมาณ 6 ร่าง ร่วมถึงชิ้นส่วนมนุษย์อีกประมาณ 14 ชิ้น ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการรอสถาบันนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจยืนยันอัตลักษณ์บุคคล อีกครั้ง
ซึ่งเวลา 00.20 น. ของวันนี้ ที่บริเวรโซน C และ โซน B เจ้าหน้าที่พบบริเวณปล่องบันไดข้างลิฟ ตรงนั้นมีป้ายบอกเลขชั้น 17 ,18 และราวบันไดกันตก พบกลุ่มร่างผู้เสียชีวิตติดค้างอยู่ จึงคาดว่าเป็นปล่องบันไดหนีไฟอย่างแน่นอน ส่วนเมื่อ 2 วันก่อนที่ไม่เจอร่างผู้ติดค้างเลย เป็นเพราะเราเน้นการทำงานไปบริเวณจุด E ซึ่งคือยอดของอาคาร จึงต้องค่อยๆกู้ซาก หากให้เครื่องจักรเร่งทำงานอาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับอันตราย ส่วนบัตรประชาชนที่เจอภายในอาคารสตง. ยืนยันแล้วว่าเป็นบัตรของคนงานที่รอดชีวิต
ในส่วนที่นำเครื่องตัดแก๊ส มาใช้ตัดเหล็กเส้นได้เยอะหรือไม่นั้น นายสุริยชัย ระบุว่าวันที่ 16 เมษายน รถขนเศษเหล็กสามารถขนได้ 176 รอบ ส่วนเมื่อวานนี้ขนได้ประมาณ 300 รอบ โดยในการทำงานได้มีการเพิ่มรอบในการเข้ามาขนเศษเหล็กเพิ่ม และมีการเพิ่มจำนวนทีมเจ้าหน้าที่เข้ามาตัดเหล็กทำให้ปริมาณการตัดเหล็กนั้นมีความคืบหน้าไปมาก รวมถึงปริมาณในการขนออกมานั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของโพรงที่จะอยู่บริเวณด้านล่างของซากอาคารนั้นยังมีความหวังที่จะเจอคนที่งานรอดชีวิตหรือไม่ นายสุริยชัย ระบุว่า คาดว่าไม่น่าจะมีโพรงขนาดใหญ่แล้ว เพราะ จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญจากหลายส่วน มองว่าอาอาคารมีทั้งหมด 30 ชั้น มีความสูง 90 เมตร รวมถึงมีน้ำหนักที่มากพอถล่มก็ทับถมกันลงมาพร้อมกันในทีเดียวจนไปถึงชั้นใต้ดิน ขนาดหมวกนิรภัยของคนงาน ที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ 400 กิโลกรัมก็ถูกทับจนแบน
และตอนนี้ยังคงใช้แผนเดิมต่อไปยังไม่มีการปรับแผนคาดว่าจะถึงบริเวณชั้นหนึ่งได้ คือสิ้นเดือนเมษายนนี้ และอุปสรรคที่มีอยู่ตอนนี้ คือเศษเหล็ก เศษปูนที่นำออกมาแล้วไปไว้ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเริ่มมีพื้นที่ไม่พอ จึงจะทำการประสานกับผู้ว่าการรถไฟ เพื่อขอใช้พื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งตอนนี้จะต้องเก็บเศษปูนเหล็กทั้งหมดไว้ในครอบครองของรัฐก่อน ส่วนในอนาคตหากคดีจบลงแล้วตัวเจ้าของทรัพย์สินจะเป็นผู้ดำเนินการ
ส่วนการที่เครื่องจักรทำงานตลอดเวลาจะทำให้หลักฐานได้รับความเสียหายหรือไม่ นายสุริยชัย ระบุว่า ชุดคณะกรรมการที่รัฐบาลมีการตั้งขึ้น และหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบเรื่องนี้ ได้ทำงานเป็นทีมเดียวกัน ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาภายในไซด์งานและจะตรวจสอบหลักฐานผ่านกล้องโดรน พอเห็นจุดไหนที่คาดว่าเป็นหลักฐานก็จะมีการประสานกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเครื่องจักรในพื้นที่ ให้เครื่องจักรหยุดทำงาน และเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปเก็บหลักฐาน ซึ่งตอนนี้เราให้ความสำคัญกับผู้ที่ติดค้างอยู่ภายในอาคาร ถ้าจะให้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บหลักฐาน ก็จะทำให้เกิดปัญหาในเรื่อง การค้นหาร่างผู้ติดค้าง “เรายังคงเน้นค้นหาร่างผู้สูญหาย”