เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเพจ “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ระบุว่า  ...

#จงจำไว้อาคารสั่นไหวระดับน้ำลดทันใดวิ่งให้ไกลไปที่สูง

#ไม่ตระหนกแต่ตระหนักกับเหตุการณ์สึนามิ

#ระบบเตือนภัยไม่สำคัญเท่ากับชุมชนเข้มแข็ง

ระยะนี้ข่าวของแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิหลายๆแหล่งออกมามากมาย ให้อ่านผ่านตา และไม่ต้องตระหนกตกใจ ข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาขนาดมากกว่า M4 บริเวณหมู่เกาะอันดามัน และนิโคบาร์โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 50 ครั้ง สูงสุดขนาด 6M.1 ในปี 2563 แผ่นดินไหวคาดการณ์ไม่ได้ แต่ต้องตระหนักกับความรุนแรง และความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจึงต้องจำ 3 ประโยค “อาคารสั่นไหว ระดับน้ำลดทันใด วิ่งให้ไกลไปที่สูง” น่ะครับ อย่าเบื่อที่จะต้องจำเนื่องจากแผ่นดินไหวรุนแรง M9.2 ในปี 2547 ที่จะทำให้เกิดคลื่นสึนามิมีรอบการเกิด >400 ปี สุภาษิตของประเทศญี่ปุ่น “ภัยพิบัติจะมาเมื่อเราลืมมัน”

ในฐานะที่เป็นคนออกสำรวจ และประเมินความรุนแรงคลื่นสึนามิ ในเหตุการณ์ปี 2547 เป็นผู้นำเอาองค์ความรู้มาเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2542 รวมทั้งได้มีการเขียนตำรา “วิศวกรรมสึนามิ” และปัจจุบันได้รับมอบหมายจากกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย ให้มาดูแลปรับปรุงระบบเตือนภัยของประเทศ ขอยืนยันกับพี่น้องคนไทยว่า ปัจจุบันศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีความพร้อมในระดับสากลในการเฝ้าระวัง และเตือนภัยคลื่นสึนามิตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีเครื่องมือดังต่อไปนี้ 1) ระบบตรวจจับคลื่นโดยทุ่นน้ำลึก และสถานีวัดน้ำ 2) ระบบประเมิน และวิเคราะห์คลื่นโดยฐานข้อมูล 3) ระบบการสื่อสาร โดยเฉพาะ Cell Boardcast

แต่อยากจะเรียนทุกท่านว่า แม้ประเทศไทยจะมีระบบเตือนภัยที่ดี ไม่ได้หมายความว่าการเตือนภัยจะมีประสิทธิผล ดังกรณีเหตุการณ์นอกเหนือความคาดหมายที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2554 เพราะความสำคัญสูงสุดอยู่ที่ชุมชน หากปราศจากความตระหนัก ย่อมเกิดความสูญเสียตามมาได้ กล่าวคือชุมชนเข้มแข็งมีความยืดหยุ่นต่อสึนามิ ต้องมีองค์ประกอบตามรูปจิ๊กซอที่แนบมา ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยคลื่นสึนามิลองศึกษา และทำความเข้าใจดูน่ะครับ

 

 

ขอบคุณ เพจ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

#ภัยพิบัติ #สึนามิ #แผ่นดินไหว