เริ่มแล้วเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลสาดน้ำ ประเพณีอันสุดรื่นเริงชุ่มฉ่ำประจำปีของไทยเรา และหลายๆ ประเทศในภูมิภาคอุษาคเนย์
แม้ว่า ในปีนี้บรรยากาศจะกร่อย ความสนุกสนานลดน้อยถอยลงไปบ้าง จากเหตุแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ขนาด 7.7 ตามมาตราริกเตอร์ โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสะกาย ประเทศเมียนมา จนได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งแรงสั่นสะเทือนยังมาถึงประเทศไทย ถึงขนาดทำให้อาคารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือสตง. ที่กำลังก่อสร้างพังถล่มลงมา และตึกอาคารอื่นๆ ได้รับผลกระทบไปมากบ้าง น้อยบ้าง ก็ตาม ทว่า เทศกาลสงกรานต์ ก็ยังเดินหน้าต่อไป ซึ่งในหลายพื้นที่ก็ยังคงชุ่มฉ่ำจากการสาดน้ำของผุ้คน
โดยเมื่อกล่าวถึงประเพณีที่มีเทศกาลสาดน้ำกันเยี่ยงนี้ นอกจากไทยเรา และภูมิภาคอุษาคเนย์ รอบบ้านผ่านเมืองกับสยามประเทศแล้ว รวมภูมิภาคเอเชียใต้ ชมพูทวีปเดิมแล้ว ก็ยังมีอีกหลายประเทศในภูมิภาคตะวันตก คือ ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ จัดงานรื่นเริงที่มีการสาดน้ำอย่างสนุกสนาน คล้ายงานเทศกาลสงกรานต์ ด้วยเหมือนกัน ซึ่งในแต่ละที่แต่ละแห่ง ต่างก็ความเก่าแก่ และตำนานเล่าขานของการก่อกำเนิดเทศกาลสาดน้ำที่ว่านี้ แตกต่างกันไป
ทั้งนี้ เทศกาลสาดน้ำที่จะนำเสนอในครั้งนี้ ก็จะเป็นเทศกาลที่จัดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ เป็นส่วนใหญ่ เช่น ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปอเมริกาใต้ หรือละตินอเมริกา ทวีปยุโรป และทวีปเอเชียในบางประเทศ ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์เรานั้น ขอละเว้นไว้เพราะได้เห็นได้รับรู้กันเป็นอย่างดีแล้ว
เริ่มจากทวีปอเมริกาเหนือ ที่ “ประเทศสหรัฐอเมริกา” เป็นงานรื่นเริงประจำปี ที่นครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ เรียกว่า งาน “แคริบเบียน อเมริกัน คาร์นิวัล” หรือที่หลายคนเรียกว่า “บอสตัน แคริบเบียน คาร์นิวัล” แต่บางคนก็เรียกกันสั้นๆ ว่า “บอสตัน คาร์นิวัล” จัดขึ้นในวันเสาร์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมของทุกปี ซึ่งสถานที่จัดงานก็เป็นย่านใจกลางเมืองของนครบอสตันกันเลยทีเดียว
ภายในงานคาร์นิวัล นอกจากมีขบวนพาเหรด และการรื่นเริงต่างๆ แล้ว ก็ยังมีการฉีดโฟม และสาดน้ำผสมสีเข้าใส่กันอีกด้วย
ลงใต้ไปในทวีปละตินอเมริกา หรืออเมริกาใต้ ก็มีงานเทศกาลรื่นเริง หรือคาร์นิวัล ให้ประชาชนได้เล่นสาดน้ำกันจนชุ่มฉ่ำในหลายงาน และหลายประเทศด้วยกัน
อาทิเช่น ในประเทศเวเนซุเอลา ก็มีงานเทศกาลรื่นเริงที่เรียกว่า “คาร์นาบาเลส เฟลิเซส วาย บีโอเซกูโรส” ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงคารากัส เมืองหลวงของประเทศ ในระหว่างช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยผู้คน รวมทั้งเด็กๆ ได้ออกมาเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน
และในประเทศเวเนซุเอลาอีกเช่นกัน อีกราว 1 เดือนถัดมา คือ มีนาคม ก็มีงานเทศกาลคาร์นิวัลเฉลิมฉลองที่ย่าน “ซานออกุสติน” ชานกรุงคารากัส เมืองหลวงของประเทศ ซึ่งภายในงานก็จะมีการสาดน้ำกันอย่างครึกครื้น ชุ่มโชกไปด้วยกันถ้วนหน้า
นอกจากมีการสาดน้ำกันแล้ว ในบางบริเวณของงาน ก็มีการจัดพื้นที่ให้เป็นแหล่งน้ำ ให้เหล่าเด็กๆ มาร่วมเล่นน้ำ สาดน้ำใส่กันในบริเวณดังกล่าวกันอีกด้วย
ล่องใต้ลงไปจาก “เวเนซุเอลา” สู่ “บราซิล” ถิ่นแซมบา ก็ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำจากงานเทศกาลปาร์ตี้ท้องถนน หรือสตรีทปาร์ตี้ เรียกว่า “โบลโค ดาส บาร์บาส” ซึ่งจะมีขึ้นเป็นประจำในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ และเป็นงานที่จัดขึ้นก่อนที่มีงานเทศกาลคาร์นิวัลอันเลื่องชื่อของบราซิล พื้นที่ของงานก็จะจัดขึ้นที่นครริวเดจาเนโร
ข้ามฟากมหาสมุทรแอตแลนติกมาทวีปยุโรป ด้วยการเข้าสู่ภูมิภาคยุโรปตะวันออก เช่น โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สโลวะเกีย และยูเครน ก็มีประเพณีเทศกาลเกี่ยวกับการสาดน้ำด้วยเหมือนกัน เรียกว่า “เวตมันเดย์ (Wet Monday)” หรือ “วันจันทร์เปียก” โดยงานจะมีขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวันแรกหลังเข้าสู่เทศกาลอีสเตอร์ของศาสนาคริสต์ นิกายออร์โธดอกซ์ ซึ่งเป็นนิกายที่ผู้คนส่วนใหญ่ของภูมิภาคยุโรปตะวันออกนับถือ
ขยับจากภูมิภาคยุโรปตะวันออก จนพ้นชายแดนตุรเคีย เข้าสู่พรมแดนของทวีปเอเชีย นั่นคือ “อาร์เมเนีย” ที่มีพรมแดนติดกับอิหร่าน ก็มีงานเทศกาลสาดน้ำของผู้คน เรียกว่า “เทศกาลวาร์ดาวาร์” ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี เพื่อรำลึกถึง “เทพธิดาอัสต์ฮิค” ซึ่งเป็นเจ้าแห่งน้ำ ความงาม ความรัก และความอุดมสมบูรณ์ ตามความเชื่อของชาวอาร์เมเนีย
ปิดท้ายที่ “ฟิลิปปินส์” ถิ่นตากาล็อก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์เรา ก็มีการสาดน้ำกันในงานเทศกาลเฉลิมฉลองนักบุญ “เซนต์จอห์น เดอะ แบปทิสต์” ของคริสตศาสนา ที่กรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศ ซึ่งงานจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน