"นภินธร" ชี้เป็นอำนาจ "คณะทำงานนโยบายการค้าฯ" ตัดสินใจเลือกสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ หลัง "ผู้เลี้ยงหมูไทย" หวั่นได้รับผลกระทบ “สหรัฐฯ”รีดภาษีสุดโต่ง ด้าน “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน”อยู่ในเกณฑ์ซบเซา กังวลสถานการณ์โลก-สงครามการค้า หวังรัฐกระตุ้นศก.-ลุ้น กนง.หั่นดอกเบี้ย
เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2568 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงแนวทางการนำเข้าสินค้าเกษตรกรรม จากสหรัฐอเมริกาว่า ต้องดูว่าไทยนำเข้าสินค้าทางการเกษตรอะไรบ้าง พร้อมตรวจสอบว่ามีบริษัทใดบ้างที่มีสวมสิทธิ์ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา โดยจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ ที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น
เมื่อถามว่า จะมีการนำเข้าสินค้าประเภทใดบ้างเพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรไทย นายนภินทร กล่าวว่า ต้องดูว่าสินค้าใดที่ไทยจำเป็นต้องใช้และไม่เพียงพอ แต่ก็ต้องหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรไทย หากการนำเข้ามามีราคาต่ำกว่าต้นทุนสินค้าของไทย ซึ่งต้องไปดูในรายละเอียดของแต่ละประเภทสินค้า
นายนภินทร ยังเปิดเผยว่า ทราบถึงข้อเรียกร้องของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่เกรงว่าไทยจะยอมนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกาจนกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ซึ่งเราได้ส่งข้อมูลให้คณะเจรจาที่มีอำนาจพิจารณาตัดสินใจแล้ว ส่วนกระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ในการส่งข้อมูลให้ว่าจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยอย่างไรบ้าง และหากมีผลกระทบจะให้ความช่วยเหลืออย่างไร
ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนมีนาคม 2568 (สำรวจระหว่างวันที่ 21-31 มีนาคม 2568) พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้ายังคงอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ที่ระดับ 60.93 นักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และแนวโน้มการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสงครามการค้า
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนมีนาคม 2568 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิถุนายน 2568) อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” (ช่วงค่าดัชนี 40-79) ที่ระดับ 60.93 โดยความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซาอย่างมาก” กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ในขณะที่กลุ่มกลุ่มนักลงทุนสถาบัน อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”
โดยผลสำรวจ ณ เดือนมีนาคม 2568 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล ปรับลด 22.4% อยู่ที่ระดับ 38.81 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 20.0% อยู่ที่ระดับ 60.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 3.7% อยู่ที่ระดับ 111.11 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศทรงตัวอยู่ที่ระดับ 66.67 ตลาดทุนไทยในเดือนมีนาคม 2568 เผชิญกับความท้าทายจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กลับมาทวีความรุนแรงขึ้น ความกังวลต่อการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาที่กระทบถึงกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งกระทบต่อทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุน และต่อการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพและความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง โดย SET Index ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 ปิดที่ 1,158.09 ปรับตัวลดลง 3.8% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ 38,491 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 21,852 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2568 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 39,978 ล้านบาท
ทั้งนี้ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตามได้แก่ ความกังวลเรื่องสงครามการค้าและความไม่แน่นอนในการประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ รวมถึงการตอบโต้ของประเทศที่ถูกเพิ่มภาษีดังกล่าว ความขัดแย้งในยูเครนและรัสเซียที่ยังไม่คลี่คลาย และการปรับขึ้นของราคาทองคำ ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ สัญญาณตัวเลขเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มอ่อนแอลง ความเป็นไปได้ในของภาครัฐการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่จะมีต่อความเชื่อมั่นในเรื่องต่างๆ