กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ สั่งเฝ้าระวังสินค้าที่มีความเสี่ยงแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทยในการส่งออกไปสหรัฐฯ ภายหลังสหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่มาจากไทยเป็นอัตราร้อยละ 36 ด้าน สหรัฐฯ โวกว่า 50 ประเทศ แห่ขอเจรจา ทรัมป์ หลังประกาศรีดเก็บภาษี ด้าน อียู ไม่ยอมเตรียมเจรจา ฮึ่มพร้อมตอบโต้หากจำเป็น
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2568 นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสหรัฐฯ มีมาตรการขึ้นภาษีกับต่างประเทศ โดยได้มีการประกาศเรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้าต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) จากประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งไทยถูกกำหนดอัตราภาษีที่ร้อยละ 36 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้มีการติดตามเฝ้าระวังการหลบเลี่ยงการใช้มาตรการของสหรัฐฯ จากประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ศุลกากรสหรัฐฯ ว่าสินค้าที่ส่งออกมีถิ่นกำเนิดไทยจริง โดย คต. ได้กำหนดรายการสินค้าเฝ้าระวังไปสหรัฐฯ จำนวน 49 รายการ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ล้อเหล็กสำหรับรถบรรทุก แผ่นหินเทียม และท่อเหล็ก เป็นต้น โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกจะต้องยื่นขอตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าก่อนขอรับหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไป
โดยมาตรการดังกล่าวจะเป็นการตรวจสอบคัดกรองสินค้า เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ จากประเทศอื่นๆ โดยผู้ส่งออกที่ประสงค์จะขอหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไป สำหรับการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ต้องผ่านการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าจากกรมฯ ก่อน จึงจะสามารถขอรับหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไปเพื่อใช้ประกอบการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐได้ ทั้งนี้ จากการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯ พบว่า การเข้าตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าของสหรัฐฯ ลดลงจากเดิม 10 รายการ เหลือ 6 รายการ และมีเพียง 2 รายการที่พบการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งกรมฯ ได้มีการเพิกถอนหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไป และได้มีการกำหนดมาตรการกับผู้ส่งออกรายดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งได้ติดตามเฝ้าระวังกระบวนการขอหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไป ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น
นางอารดากล่าวทิ้งท้ายว่า กรมฯ มีแผนจะเพิ่มรายการสินค้าเฝ้าระวังฯ โดยได้ดำเนินการติดตามข้อมูลสถิติทางการค้าสำหรับรายการสินค้าอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงสูงในการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทยจากมาตรการ AD และมาตรการ 301 อย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้ได้ดำเนินการติดตามรายการสินค้าจากมาตรการ 232 เพิ่มเติมด้วย เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงที่อาจมีสินค้าดังกล่าวมาแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย โดยจะพิจารณาปรับเพิ่มรายการสินค้าเฝ้าระวังฯ ของกรมฯ ต่อไป อีกทั้งกรมฯ ได้มีการประสานงานและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันป้องกันปัญหาการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ขณะที่ สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยว่า มีมากกว่า 50 ประเทศติดต่อมายังทำเนียบขาว เพื่อขอเปิดการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการเก็บภาษีนำเข้าครั้งใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
คณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทรัมป์พยายามปกป้องนโยบายภาษีดังกล่าว โดยชี้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในการปรับบทบาทของสหรัฐฯ ในระบบการค้าโลก พร้อมพยายามลดความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการประกาศมาตรการภาษีเมื่อวันพุธ (2 เม.ย.) มีรัฐบาลจากกว่า 50 ประเทศติดต่อเข้ามาเพื่อขอเจรจาทางการค้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ อยู่ในสถานะที่มีอำนาจต่อรอง
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้เปิดเผยรายชื่อประเทศหรือรายละเอียดของการเจรจาใด ๆ แต่การเจรจากับหลายสิบประเทศในเวลาเดียวกัน อาจเป็นความท้าทายในแง่การบริหารจัดการสำหรับรัฐบาลทรัมป์ และยังไม่ชัดเจนว่ากระบวนการนี้จะใช้เวลานานเพียงใด
ด้าน เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (7 มี.ค.) ว่า สหภาพยุโรป (EU) ยังยึดมั่นในแนวทางการเจรจากับสหรัฐฯ เรื่องมาตรการภาษีนำเข้า แต่ย้ำพร้อมดำเนินมาตรการตอบโต้ที่เหมาะสม หากจำเป็นต้องปกป้องผลประโยชน์ของตน
ตามแถลงการณ์ที่เผยแพร่โดย EC หลังการหารือทางโทรศัพท์กับเคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ฟอน เดอร์ เลเยน มองว่า การขึ้นภาษีครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ของสหรัฐฯ
"ท่านประธานได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการเก็บภาษีนำเข้าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันที่ 2 เม.ย. รวมถึงความเสียหายอาจเกิดขึ้นต่อทุกประเทศทั่วโลก ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงประเทศยากจนที่สุดในโลก" แถลงการณ์ระบุ
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจาก EU ในอัตรา 20% เมื่อวันพุธ (2 มี.ค.) ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายประเทศสมาชิก EU แสดงความไม่พอใจและออกมาคัดค้านมาตรการดังกล่าว