เวทีระดมสมองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคกลาง เผยนนทบุรีมีคะแนนตัวชี้วัดความยั่งยืน SDG Index สูงสุด พบภาพรวมระดับภาคเผชิญปัญหาความไม่ยั่งยืนในภาคการเกษตร ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการศึกษาที่ยังไม่ตอบโจทย์ ย้ำรัฐเร่งพัฒนาคำนึงถึงคนทุกกลุ่ม และส่งเสริมการทำงานระหว่างภาคส่วน เพื่อสร้างยกระดับคุณภาพชีวิตและเร่งรัดแก้วิกฤติสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ
ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะทำงานระดับภาคกลาง เปิดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ “นำเสนอข้อมูลความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาคและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)
ในโอกาสนี้ รศ. ดร.ประสพชัย พัฒน์โรจนโสภณ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำเสนอบทบาทมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) ศูนย์กลางองค์ความรู้ การวิจัย นวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่ 2) การพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญและตระหนักถึงความยั่งยืน และ 3) การทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อพัฒนานโยบายและโครงการที่ตอบสนองความต้องการของพื้นที่ โดยมีตัวอย่างโครงการและกิจกรรมที่ใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อน เช่น ระบบหน่วยกิต “SU4Life” มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าศึกษาหลักสูตรระยะสั้นหรือหลักสูตรการอบรมได้ฟรี โดยไม่จำกัดเพศ อายุ หรือพื้นฐานทางการศึกษา และ โครงการสมุทรสงครามอยู่ดี : การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ฐานนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชุมชน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาฐานข้อมูลด้านการท่องเที่ยวให้เข้าถึงได้มากขึ้น
ขณะที่ทีม SDG Move ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจาก SDG Index ระดับจังหวัดและระดับภูมิภาคแก่พื้นที่ โดยพบว่านนทบุรีมีคะแนน SDG Index สูงที่สุด ได้ 65.22 คะแนนตามมาด้วยสมุทรปราการ 64.55 คะแนน และกรุงเทพมหานคร 61.70 คะแนน ขณะที่ประเด็นความเสี่ยงร่วมกันของภาคกลางที่เกี่ยวข้องกับ SDGs มีทั้งสิ้น 3 เป้าหมาย ได้เเก่ SDG 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และ SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และหากพิจารณากลุ่มที่มีความเฉพาะขึ้น พบว่า กลุ่มจังหวัดปริมณฑล มีประเด็นความเสี่ยงร่วมกัน เช่น SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ SDG 6 น้ำสะอาดและการสสุขาภิบาล SDG 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และ SDG 14 ทรัพยากรทางทะเล ด้านกลุ่มภาคกลางตอนบน มีประเด็นความเสี่ยงร่วมกัน เช่น SDG 2 ยุติความหิวโหย และ SDG 5 ความเท่าเทียมททางเพศ ขณะที่กลุ่มจังกวัดกลาวตอนล่างมีประเด็นความเสี่ยงร่วมกัน เช่น SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ SDG 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
บรรยากาศการประชุมเต็มไปด้วยข้อเสนอแนะเข้มข้น ตั้งแต่แนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิต การยกระดับอาชีเกษตรกร การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ไปจนถึงประเด็นร่วมระดับโลกอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้รับความสนใจจากภาคีเครือข่ายระดับนโยบาย กระทรวงการต่างประเทศ และคณะ ที่เข้าร่วมรับฟังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ปัญหาร่วมสำคัญที่ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอว่าต้องเร่งแก้ไข เช่น การยกระดับภาคเกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพและรายได้ที่เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ PM2.5 รวมถึงการแก้ปัญหาการศึกษา โดยเฉพาะการเน้นความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและมีความครอบคลุมเข้าถึงได้ ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร่วมสะท้อนยุทธศาสตร์ที่คาดหวัง เช่น การสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และภาคธุรกิจ เพื่อสนับสนุน SME ที่มีแนวปฏิบัติในการลดคาร์บอน การเปลี่ยนผ่านการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลังงานหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพและความครอบฃคลุมมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยแก่คนเมือง