กอปภ.ก. ติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือและการแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหว ย้ำทุกหน่วยงานให้เร่งสำรวจความเสียหายและอัปเดตสถานการณ์ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างรอบด้านและรวดเร็ว
วันที่ 2 เม.ย.68 ณ ห้องกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณสุข จัดประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เพื่อติดตามสถานการณ์ ผลกระทบ และการแก้ไขปัญหาภัยจากแผ่นดินไหว เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องและเต็มกำลัง โดยเฉพาะการเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างรอบด้านและรวดเร็ว
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวบนบกบริเวณประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 13.20 น. ของวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รับรู้แรงสั่นสะเทือน และหลายพื้นที่ได้รับความเสียหาย โดยปัจจุบัน มีรายงานพื้นที่รับรู้แรงสั่นสะเทือนรวมจำนวน 63 จังหวัด และมีพื้นที่ได้รับความเสียหายจำนวน 18 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลําพูน ลําปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และชัยนาท รวม 125 อำเภอ 358 ตำบล 548 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 771 หลัง วัด 76 แห่ง โรงพยาบาล 164 แห่ง อาคาร 12 แห่ง โรงเรียน 64 แห่ง สถานที่ราชการ 39 แห่ง และมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 35 ราย (กรุงเทพมหานคร 34 ราย จ.นนทบุรี 1 ราย) และผู้เสียชีวิตทั้งหมด 20 ราย ทั้งหมดอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างครอบคลุม ครบถ้วน และรวดเร็วที่สุด
ในส่วนของการดำเนินการแก้ไขและให้ความช่วยเหลือประชาชนของกรุงเทพมหานคร เรื่องการแก้ไขสภาพการจราจรในพื้นที่ ปัจจุบัน (2 เม.ย. 68) ได้เปิดเส้นทางจราจรเฉพาะฝั่งขาเข้าถนนกำแพงเพชร 2 ซึ่งเป็นถนนหน้าจุดเกิดเหตุอาคารถล่ม ส่วนทางด้านฝั่งขาออก บริเวณตรงหน้าห้าง JJ Mall สามารถใช้สัญจรได้ตามปกติแล้ว สำหรับรถไฟฟ้า เรือโดยสารคลองแสนแสบ และเรือด่วนเจ้าพระยาเปิดให้ใช้บริการได้ตามปกติเช่นกัน ส่วนการตรวจสอบอาคารได้ดำเนินการตรวจสอบ เป็นอาคารสีเขียวที่มีความปลอดภัย สามารถใช้งานได้ตามปกติ จำนวน 798 แห่ง ทั้งนี้ ประชาชนในกรุงเทพมหานครสามารถตรวจสอบความเสียหายของอาคารบ้านเรือนเบื้องต้นด้วยตนเองผ่าน Traffy Fondue สำหรับผลการปฏิบัติงานการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและเยียวยาจิตใจเหตุอาคารถล่ม เขตจตุจักร มียอดการรับบริการรวม 1,064 คน แบ่งเป็น อาการทางกาย 155 คน ปฐมพยาบาลเบื้องต้น 929 คน ให้คำปรึกษาด้านจิตใจเบื้องต้น 100 คน
ในส่วนการปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายจากเหตุอาคารถล่ม วันนี้ยังคงใช้เครื่องจักรกลขนาดหนักเข้าปฏิบัติการ ควบคู่กับการปฏิบัติงานของทีมค้นหาและกู้ภัย ทั้งของประเทศไทยและนานาชาติที่เข้ามาร่วมให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งวันนี้คาดว่า น่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเจาะเพื่อเปิดโครงสร้างให้เป็นโพรงได้แล้ว
สำหรับการดำเนินงานในระดับพื้นที่ ได้มีการปฏิบัติตามข้อสั่งการของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) มาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว (28 มี.ค. 68) โดยจังหวัดปทุมธานี มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคลองหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอธัญบุรี และอำเภอ สามโคก รวม 15 ตำบล 15 หมู่บ้าน โรงพยาบาลได้รับความเสียหาย 11 แห่ง โรงเรียน 3 แห่ง สถานที่ราชการ 3 แห่ง ซึ่งจังหวัดปทุมธานีได้สั่งการให้อำเภอ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการสำรวจความเสียหาย และเยี่ยมเยียนประชาชน พร้อมประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (แผ่นดินไหว) รวมถึงจัดทำระบบการรายงานผลกระทบจากแผ่นดินไหวจังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันมีประชาชนเข้ามา กรอกข้อมูลความเสียหาย จำนวน 146 ราย อีกทั้งมีการติดตามสถานการณ์และรายงานผลการดำเนินงาน รวมถึงการเร่งรัดการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายจำนง สวัสดิ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) กล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องและเต็มกำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบอาคารบ้านเรือนประชาชน อาคารต่าง ๆ โรงพยาบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้แก่ประชาชน พร้อมขอเน้นย้ำให้ 18 จังหวัด เร่งสำรวจความเสียหายและรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ให้มีความเป็นปัจจุบัน เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างรอบด้าน รวดเร็ว และเป็นธรรม นอกจากนี้ ขอให้จังหวัดตรวจสอบเงินทดรองราขการของจังหวัดว่ามีเพียงพอหรือไม่ และมีความต้องการเพิ่มเติมหรือไม่ โดยให้ประสานมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อขอขยายวงเงินทดรองราชการต่อไป