วันที่ 31 มี.ค. 2568 เวลา 14.20 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา นำโดย นายนิพนธ์ เอกวานิช รองประธานคณะกรรมาธิการฯ และประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการยกระดับและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs แถลงว่า จากผลการพิจารณาศึกษาเรื่องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่พักขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มิใช่โรงแรมให้ได้รับใบอนุญาตเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กรณีศึกษาจังหวัดภูเก็ต” โดยจังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย ส่งผลให้ธุรกิจที่พักมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของพื้นที่ พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจที่พักจำนวนมากยังไม่ได้รับใบอนุญาตกิจการที่พักอย่างถูกต้อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาและเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่พักขนาดกลางและขนาดเล็กที่มิใช่โรงแรมให้ได้รับใบอนุญาต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจที่พักสามารถพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในระดับประเทศและระดับโลก รวมถึงเพื่อเป็นการให้ข้อเสนอแนะสำหรับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่พักขนาดกลางและขนาดเล็กได้รับใบอนุญาตในภูมิภาคอื่น ๆ ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานราชการ ภาคีเครือข่าย และผู้ประกอบการโรงแรม รวมทั้งได้ศึกษาดูงานที่พักขนาดกลางและขนาดเล็กที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว ที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต และที่อยู่ในกระบวนการขอรับใบอนุญาต และได้รับทราบถึงประเด็นปัญหา/ข้อติดขัดเกี่ยวกับกฎหมาย ข้อกำหนด ปัญหาในการขอใบอนุญาตที่ดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น กฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม และได้รับทราบถึงปัญหาของการที่ผู้ประกอบการไม่ได้เข้าสู่ระบบนั้นไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของภาครัฐได้ ซึ่งปัญหาข้อติดขัดเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เล็งเห็นปัญหาและพิจารณาเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอีกทางหนึ่ง ได้จัดทำรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่พักขนาดกลางและขนาดเล็กที่มิใช่โรงแรมให้ได้รับใบอนุญาตเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา : จังหวัดภูเก็ต” พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอเชิงปฏิบัติ อาทิเช่น จัดตั้งหน่วยงานเป็น “ศูนย์บริการขอใบอนุญาตที่พักขนาดกลางและขนาดเล็กแบบครบวงจร” ในลักษณะการให้บริการแบบ One-Stop Service เพื่อให้บริการคำแนะนำด้านกฎหมาย การยื่นขออนุญาตและการปรับปรุงอาคาร โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชช ข้อเสนอเชิงนโยบาย การประสานงานโดยบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม การพัฒนาระบบ E-Licensing

“สำหรับการขอรับใบอนุญาตโรงแรม พัฒนาแพลตฟอร์ม Smart Licensing สำหรับการขอใบอนุญาตโรงแรม และข้อเสนอเชิงนิติบัญญัติ อาทิ เช่น การแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายและวางกลไกที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่พักขนาดกลางและขนาดเล็กที่มิใช่โรงแรมให้ได้รับใบอนุญาต และสามารถใช้เป็นต้นแบบในการบูรณาการให้กับผู้ประกอบการที่พักในภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานของธุรกิจที่พักขนาดกลางและขนาดเล็กที่มิใช่โรงแรมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งจะเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมให้จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และยังช่วยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการ”นายนิพนธ์ กล่าว