สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (สสธวท.) จัดพิธีส่งมอบ “ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา” ให้แก่กรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร โดยมี รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับมอบ พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติร่วมเป็นสักขีพยานอย่างคับคั่ง โดยโครงการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ นี้จัดขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับแรงสนับสนุนจากภาคเอกชน หอการค้าไทย หอการค้าไทย-จีน และองค์กรชาวไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศ

 

คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธาน สสธวท. ในนามคณะกรรมการจัดสร้างฯ กล่าวในพิธีว่า ซุ้มประตูทั้งสองแห่ง ได้แก่ “วชิรสถิต ๗๒ พรรษา” และ “วชิรธำรง ๗๒ พรรษา” เป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดี ความสามัคคี และความกตัญญูของประชาชนชาวไทย โดยออกแบบอย่างวิจิตรงดงามด้วยศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน สะท้อนอารยธรรมอันทรงคุณค่า และพร้อมจะกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ

 

ด้าน รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ถือเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจของชาวกรุงเทพฯ ที่ได้ต้อนรับซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้งสองแห่งบนถนนเจริญกรุง ซึ่งไม่เพียงแต่เสริมสร้างความงดงามให้กับพื้นที่ แต่ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวในระยะยาว โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับถนนเยาวราช ยกระดับเจริญกรุงให้กลายเป็นอีกหนึ่งย่านเศรษฐกิจสำคัญของเมืองหลวง

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยฯ กล่าวว่า หอการค้าไทยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าร่วมโครงการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งนี้ สะท้อนถึงความจงรักภักดีและความกตัญญูต่อแผ่นดินของภาคธุรกิจไทย พร้อมยังแสดงถึงสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนตลอด 50 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ นายประสงค์ เอาฬาร รองประธานหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากชาวไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศ ตั้งแต่รุ่นบุกเบิกจนถึงนักธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งต่างมีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์แลนด์มาร์กที่สะท้อนความจงรักภักดี ความกตัญญู และการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของประชาชนทุกเชื้อชาติ โดยมั่นใจว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวย่านเจริญกรุง และมีศักยภาพในการต่อยอดให้กลายเป็น “เยาวราช 2” ในอนาคต

สำหรับ โครงการซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของชาติที่เกิดจากพลังของประชาชน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเพื่อความมั่นคงยั่งยืนของกรุงเทพมหานครในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม