"น่าน" ค่าฝุ่น PM2.5 วิกฤต ชาวบ้านเริ่มแสบตา คันผิวหนัง ขณะที่เตาเผาขยะปล่อยมลพิษ ซ้ำเติมสถานการณ์
วันที่ 25 มีนาคม 2568 จังหวัดน่าน ค่าฝุ่น PM2.5 วิกฤต พุ่งระดับสีแดงสูงสุดของภาคเหนือ ล่าสุดเวลา 14.00 น.วันนี้ 25 มี.ค.68 ตำบลในเวียง อ.เมืองน่าน อยู่ที่ 124.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ 110 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ส่งผลให้สภาพเมืองโดยรวมของจังหวัดน่าน ขมุกขมัว มองเห็นด้วยตาชัดถึงหมอกควันที่ปกคลุมหนา ประชาชนที่ต้องออกมาทำกิจวัตรประจำวันนอกบ้าน เริ่มแสบตาม และไม่สบายผิว รู้สึกคันยิบๆตามผิวหนัง
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านหมู่ 2 บ้านห้วยส้มป่อย ตำบลผาสิงห์ อ.เมืองน่าน ก็ได้ออกมาร้องเรียนเตาเผาขยะของเทศบาลเมืองน่าน ที่บริเวณกิโลเมตรที่ 4 ถนนน่าน-ทุ่งช้าง ต.ผาสิงห์ อ.เมืองจ.น่าน ปล่อยควันดำพวยพุ่งขึ้นท้องฟ้าสร้างมลพิษเป็นเวลาหลายเดือน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง ทั้งกลิ่นเหม็น และแสบตา คันตามใบหน้าและผิวหนัง
นายอาทิตย์ สารเทพ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้าน บ้านห้วยส้มป่อย ต.ผาสิงห์ อ.เมืองน่าน เล่าว่า พบเห็นควันดำพวยพุ่งตลอดทั้งวันมานานกว่า 3 เดือน โดยชาวบ้านที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงต้องทนกับกลิ่นเหม็น และแสบตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้มี หมอกควันไฟจากพื้นที่อื่นๆฟุ้งกระจายเข้ามาสมทบ ทำให้หายใจลำบากมากยิ่งขึ้น
โดยล่าสุดวันนี้ 25 มี.ค. 68 นายรุ่งโรจน์ ขจรพงศ์กีรติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผาสิงห์ นำทีมเจ้าหน้าที่ เข้าตรวจสอบ พร้อมกับนายอุกฤษ นวลคำวัง นายช่างโยธาชำนาญการ กองช่างสุขาภิบาล เทศบาลเมืองน่าน พบว่าจุดควันดำที่ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าจำนวนมาก เกิดมาจากเตาเผาขยะติดเชื้อ ที่เจ้าหน้าที่กำลังเร่งเผาจำนวน 3 เตา
ทั้งนี้นางสาวณัฐสิกา จันทะนะ นักวิชาการสุขาภิบาลปฏิบัติการ กองช่างสุขาภิบาล เทศบาลเมืองน่าน ชี้แจงว่า สาเหตุของปัญหาเกิดจากเตาเผาขยะที่ใช้กำจัดขยะพิษชำรุดถึง 3 เตา ทำให้การเผาไหม้ขยะได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งขยะติดเชื้อมีความชื้นสูง ทำให้เกิดควันจำนวนมาก อย่างไรแล้วได้ทำเรื่องของบประมาณเพื่อซ่อมแซมและปรับปรุงระบบเผาขยะ แต่ติดปัญหาที่ขณะนี้เทศบาลเมืองน่านอยู่ในช่วงหมดวาระของผู้บริหาร จึงต้องรอการเลือกตั้งใหม่ให้แล้วเสร็จเสียก่อน
สำหรับการแก้ปัญหาในเบื้องต้นขณะนี้ จะให้ลดปริมาณการเผาขยะในแต่ละครั้ง จากเดิมเผากำจัดครั้งละ 200 กก.ต่อชั่วโมง จะลดลงเหลือง 50-100 กก.ต่อครั้ง เพื่อให้การเผาไหม้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดปริมาณควันที่ปล่อยออกมาให้น้อยที่สุด