มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  จัดเสวนาสื่อมวลชน “หญิงไทยกำลังตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้า” แพทย์และนักวิชาการเตือนห่วงเด็กและเยาวชนไทยโดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงมีแนวโน้มสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นกว่าวัยรุ่นชาย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงและกังวล เพราะหากปล่อยให้วัยรุ่นหญิงติดบุหรี่ไฟฟ้าจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าผู้ชาย เพราะนอกจากจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ จากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกับเพศชายแล้ว ยังเสี่ยงที่เกิดโรคร้ายเกิดมะเร็งปากมดลูก ในอนาคตส่งผลต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ อีกทั้งส่งผลเสียต่อผิวพรรณความสวยงาม และจะมีโอกาสเลิกสูบได้น้อยเพราะเสพติดนิโคตินที่ติดหนักกว่าบุหรี่มวนด้วย

ผศ.ดร.ศรัณญา เบญจกุล  คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

ผศ.ดร.ศรัณญา เบญจกุล  คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เปิดเผยว่า  ผลการรณรงค์ที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราการสูบบุหรี่มวนของหญิงไทยลดลง จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่าอัตราการสูบบุหรี่ของหญิงไทยลดลงเหลือ 1.3% เทียบกับเพศชาย  34.7%  เนื่องด้วยกระแสตื่นตัวของสังคมไทยทั้งภาคนโยบายและภาคประชาสังคมร่วมกันสื่อสารสร้างการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้  แต่อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้หญิง ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูด มีกลิ่นหอม ทำให้เสพติดได้ง่าย ส่งผลให้การสำรวจระดับประเทศ ปี 2565 พบว่า วัยรุ่นหญิงอายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้า 15% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าบุหรี่มวน 10 เท่า ในขณะที่ผู้ชายสูบบุหรี่ไฟฟ้า 20.2%  นอกจากนี้  จากการสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนไทย(GYTS) ปี 2558 และ 2565 ของเยาวชนไทยอายุ 13 - 15  ปี ชี้ให้เห็นว่า เยาวชนไทยตกเป็นเหยื่อบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า (รวมบุหรี่มวน) เพราะมีเยาวชน  6  ใน 10 คน พบเห็นการโฆษณาส่งเสริมการขายบุหรี่ผ่าน Social media  และได้รับตัวอย่าง บุหรี่มวนและบุหรี่ซิกาแรตฟรีเพิ่มขึ้น จาก 7.3% เป็น 11.1 %

 ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

ด้าน  ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวว่า  การสำรวจปีต่อ ๆ มา  ในประเทศไทย  พบว่า  วัยรุ่นหญิงและชายมีอัตราการสูบบุหรี่ที่ใกล้เคียงกัน  หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นดังข้อมูลข้างต้นที่ ผศ.ดร.ศรัณญา  นำเสนอจะส่งผลให้อัตราการสูบบุหรี่โดยภาพรวมทั้งบุหรี่ปกติและบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มผู้หญิงเพิ่มสูงอย่างก้าวกระโดดซึ่งเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า หญิงไทยสูบบุหรี่ทุกรูปแบบจะมีแนวโน้มเลิกได้ยากกว่าผู้ชาย และที่น่าเป็นห่วงคือ ผลของการเสพติดจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทุกระบบระยะยาวด้วย  ทั้งนี้ ในประเทศ อเมริกา  แคนาดา และอังกฤษ  วัยรุ่นติดบุหรี่ไฟฟ้าหนักมากกกว่าบุหรี่มวนและเลิกยากกว่าซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง  และที่สำคัญผู้หญิงที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจนเสพติดจะมีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่าผู้ชายซึ่งเป็นผลจากความแตกต่างของฮอร์โมนเพญิงหญิงกับชาย จึงมีโอกาสเป็นโรคร้ายที่ระบบอวัยวะอื่นที่มากกว่าผู้ชายด้วย

ด้าน  ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ​ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อสตรีตั้งครรภ์ ไม่แตกต่างจากผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของบุคคลประเภทอื่น กล่าวคือ  ทำให้เกิดโรคเรื้อรังของระบบหายใจหลายชนิด  เช่น   โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง และโรคมะเร็งปอด ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไม่ดี ดำเนินชีวิตด้วยความทุกข์ทรมานและเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร   หากคุณแม่สูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์ จะทำให้สารพิษทั้งนิโคติน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และสารอื่น ๆ ถูกส่งผ่านระบบทางเดินหายใจของมารดาเข้าไปสู่รก  ซึ่งสารพิษเหล่านี้จะทำให้มีการแปรปรวนภายในมดลูก  และก่อผลร้ายหลายประการ เช่น  การแท้งบุตร  การคลอดก่อนกำหนด (ซึ่งทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ ยังไม่สมบูรณ์พอ)  ในสตรีบางราย รกอาจจะไปเกาะผิดตำแหน่ง   ที่ควรจะเป็น เช่น  ควรจะเกาะบริเวณยอดมดลูก แต่เมื่อมีสารพิษจากการสูบบุหรี่เข้ามารบกวนบริเวณยอดมดลูก รกก็จะไปเกาะที่บริเวณส่วนล่างของมดลูกหรือคลุมปากมดลูกที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงมากกว่าที่เรียกว่า รกเกาะต่ำแทน ซึ่งมีอันตรายต่อการคลอดมากเพราะขัดขวางการคลอดของทารกและทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการเสียเลือดมาก   อีกทั้งรกของสตรีที่เสพบุหรี่มาก  บางรายจะมีการเสื่อมสภาพและเกิดการสร้างสารพิษออกมาไปกระตุ้นให้ระบบอวัยวะของร่างกายแปรปรวน ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง มีการบวมทั่วร่างกาย มีการรั่วไหลของสารโปรตีนทางปัสสาวะ ถ้าอาการของโรครุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วย ชัก หลอดเลือดในสมองแตก และเสียชีวิตได้ ซึ่งเราเรียกภาวะนี้ว่า ครรภ์เป็นพิษ   

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า  ส่วนผลกระทบของมารดาที่สูบบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้าในขณะตั้งครรภ์ สารพิษในบุหรี่จะไปขัดขวางการลำเลียงสารอาหารและก๊าซออกซิเจนจากรกไปเลี้ยงทารกในครรภ์ ทำให้ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ และถ้าการขาดสารอาหารและก๊าซออกซิเจนที่ไปเลี้ยงทารกในครรภ์ค่อนข้างรุนแรง จะทำให้ทารกตายในครรภ์ได้ ดังนั้น ภายหลังคลอดทารกแรกเกิดจำนวนไม่น้อยจะมีภาวะทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย  ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ทารกกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายที่เรื้อรังในอนาคตเมื่อเป็นผู้ใหญ่หลายโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น  นอกจากนี้  ภายหลังคลอดในระยะเวลาต่อมา พบว่าทารกจำนวนหนึ่งจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการล่าช้า ซึ่งแสดงออกด้วยอาการหลายอย่าง เช่น  การทรงตัวล่าช้า หกล้มง่าย  การเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่สอดคล้องกัน   มีปัญหาด้านความคิด ความจำ การตัดสินใจ  มีอารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือมี IQ ต่ำ

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช  อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ด้าน รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช  อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า บริษัทบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ากำลังทำการตลาดล่าเหยื่อพุ่งเป้าไปที่หญิงไทย  ซึ่งจากเอกสารลับของบริษัทบุหรี่  ระบุว่า “ผู้หญิง”  เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญสำหรับเตรียมการเปิดตลาดบุหรี่มวน  โดยใช้กลยุทธ์ อ้างความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย เพื่อโปรโมทการสูบบุหรี่ในกลุ่มผู้หญิง ตัวอย่างเช่น การสื่อสารผ่านโซเซียลมีเดียช่องทางต่าง ๆ เพื่อโฆษณา ชูประเด็นที่ผู้หญิงสนใจ  ให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่ชูความเป็นหญิงสาวที่ทันสมัย  มีเสน่ห์  รักอิสระ สนุกสนานแต่ใส่ใจด้านสุขภาพ  เชิญชวนให้ร่วมกิจกรรม อีเว้นท์ต่าง ๆ เช่น การประชุม กีฬา สันทนาการที่ผู้หญิงสนใจ  มีการรีวิวสินค้าผ่าน Influencer ที่เป็นผู้หญิง มีการแจกตัวอย่างให้ทดลอง รวมถึงออกแบบผลิตภัณฑ์ กลิ่น รสชาติสำหรับผู้หญิง  ที่ร้ายที่สุดบิดเบือนข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพ โดย  โปรโมทว่า 

-ให้เปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าขณะตั้งครรภ์ดีกว่าการเลิกสูบบุหรี่!!? ความจริงคือ

“การหยุดสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์เป็นวิธีที่ดีที่สุดและ  ไม่เป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์”

-สูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยลดน้ำหนัก? ความจริงคือ

“สูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่วิธีลดน้ำหนักและยังส่งผลเสีย ต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”

สูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยลดความเครียด? ความจริงคือ

สูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่วิธีลดความเครียด  แต่ทำให้เครียดเพิ่มและยังส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

​รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวทิ้งท้ายว่า การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทยในขณะนี้ถือ เป็นบทเรียนสำคัญของพวกเราทุกคนในสังคมไทย  รวมถึงรัฐบาลที่ต้องมีความรอบคอบอย่างมากในการกำหนดนโยบายบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากไปกว่านี้   ที่น่ากังวลคือ อัตราการเพิ่มของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กผู้หญิงพุ่งสูงเร็วมากกว่าการลดลงของอัตราการสูบบุหรี่ธรรมดาอย่างชัดเจน ยิ่งทำให้ข้ออ้างของกลุ่มเชียร์บุหรี่ไฟฟ้าที่ว่า เด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพราะต้องการเลิกสูบบุหรี่ธรรมดาจึงไม่จริง ซ้ำยังทำให้เห็นภาพชัดขึ้นด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้ากำลังกลายเป็นสิ่งเสพติดใหม่ที่ดึงดูดเด็กและเยาวชนเข้ามาสู่วงจรการเสพติด  สังคมไทยต้องตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันป้องกันไม่ให้วัยรุ่นหญิงไทยตกเป็นเหยื่อของบุหรี่ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น