วันที่ 6 มี.ค.68 รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ โพสต์คลิปผ่านเฟซบุ๊ก Panitan Wattanayagorn พร้อมระบุข้อความว่า...

ยูเครนได้อะไรจากการกลับลำ?

ปธน.เซเลนสกี้ พูดถึง"หลักประกันความมั่นคง" (Security Guarantee) ของยูเครนแทบทุกครั้งที่พบผู้นำโลก และก็ยืนยันอย่างแข็งขันในเรื่องนี้ที่ทำเนียบขาวก่อนที่จะทะเลาะกันจนวงแตกเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว

หลักประกันที่ว่านี้คือ "การป้องปราม" (deterance) ไม่ให้รัสเซียผิดข้อตกลงสงบศึกที่กำลังจะลงนามกันด้วยการวางกำลังทหารขนาดใหญ่ไว้ป้องกันยูเครนตามแนวต้านรัสเซียหรือตามเส้นเขตแดนใหม่ และกดดันให้รัสเซียทำตามข้อตกลงต่อไปอีกหลายปี ซึ่งตั้งแต่ปีค.ศ.1994 มีข้อตกลงเรื่องหลักประกันแบบนี้มาแล้ว แต่ไม่เคยบรรลุผล

แต่ปธน.ทรัมป์จะให้ยุโรปจัดกำลังกันเอง โดยไม่ให้ใช้กองกำลังของ NATO และยูเครนก็คงไม่สามารถขอกำลังของ UN ได้เพราะรัสเซียจะใช้สิทธิ veto ยับยั้งแน่นอน

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าจะต้องใช้กองกำลังอย่างน้อย 100,000 นายขึ้นไปเพื่อรับประกันความปลอดภัยของยูเครน (พื้นที่ยูเครนใหญ่กว่า Kosovo ถึง 50 เท่า ซึ่งเคยใช้ทหารประมาณ 50,000 นายเพื่อดูแล Kosovo ในปีค.ศ. 1999)* อังกฤษและฝรั่งเศสบอกว่าจะจัดเองได้แค่ 30,000 นาย และก็ยังตกลงกันไม่ได้ด้วยซ้ำกับชาติอื่น ๆ ว่าใครจะสมทบอีกเท่าไรเพราะไม่มีใครพร้อมหรือต้องการเปิดศึกกับรัสเซียโดยตรงถ้าสหรัฐฯไม่หนุน

กองกำลังที่ว่านี้จะต้องทันสมัยและเข้มแข็งและอยู่ใน "เขตปลอดทหาร" (Demilitarized Zone - DMZ) ที่จะจัดตั้งขึ้นกว้างและลึกอย่างน้อย 40 กิโลเมตรขึ้นไป เพื่อป้องกันการบินของ drone สมัยใหม่ที่มีขีดความสามารถสูง และเพื่อป้องกันการเผชิญหน้าหรือปะทะกันของกองกำลังขนาดใหญ่ที่รบกันอยู่ และที่สำคัญ อาจจะต้องสบทบกับกองกำลังของยูเครนและนานาชาติอื่น ๆ ให้ได้ถึงประมาณ 200,000 นาย จึงจะได้สัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังรัสเซียในพื้นที่**

รัสเซียระบุว่าการวางกำลังแบบนี้ก็คือการยึดครองยูเครนของฝ่ายตะวันตก และมีแนวโน้มที่จะไม่ยอมรับ ดังนั้น การเจรจากับรัสเซียเพื่อยุติการรบชั่วคราวในครั้งนี้ จึงต้องเจรจากันถึงจุดยืนที่เป็นกลางมากขึ้นของยูเครน รวมทั้งการลงจากตำแหน่งของปธน.เซเลนสกี้ด้วย ซึ่งก็ดูเหมือนว่ารัสเซียได้เปรียบก่อนเจรจาจริงแล้ว

ถึงวันนี้ ยุโรปตะวันตกคงคิดว่าเดินมาถึงจุดนี้ได้ยังไง และยูเครนจะมี "ไพ่" อะไรในมืออีกบ้าง?