วันที่ 24 มี.ค. 68 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) กล่าวถึงความคืบหน้าการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค. มีการออกหมายจับไปกว่า 100 คน และมีการติดตาม โดยให้รายงานผลการตรวจสอบสายเสาสัญญาณ การใช้ซิมทุกวันจันทร์ ซึ่งเท่าที่ได้รับรายงานเป็นไปด้วยดี มีการทำงานอย่างต่อเนื่องและยังไม่พบเหตุผิดปกติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังตัดสัญญาณทำให้คนไทยส่วนหนึ่งที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบ เพราะไม่สามารถใช้สัญญาณโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ตได้ นายประเสริฐ กล่าวว่า ก็มีบ้าง ซึ่งวันที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ได้สั่งการให้ กสทช. ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยจะมีวิธีขยายสัญญาณในฝั่งไทย ในจุดที่สัญญาณอ่อน ซึ่งได้พูดคุยกันว่าอาจจะเพิ่มสัญญาณในบางจุด โดยเพิ่มเฉพาะในฝั่งไทย
เมื่อถามว่า หากมีการเพิ่มจุดสัญญาณ จะมีสัญญาณไปถึงประเทศเพื่อนบ้านจนเขาสามารถกลับไปใช้งานได้ใช่หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ไม่สามารถใช้ได้ เพราะมีตัววัดสัญญาณอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า ภายหลังนายกฯ สั่งการได้รับความร่วมมือจากเอกชนดีหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี หลายบริษัทมายืนยัน ความเป็นเจ้าของสายอินเตอร์เน็ตแล้ว ส่วนใครที่ไม่มายืนยัน เราก็จะดำเนินการตัดสัญญาณ ทั้งนี้เราจะตัดสัญญาณเฉพาะคนที่ไม่มายืนยัน ซึ่งมีประมาณ 10 ราย ส่วนคนที่มายืนยันก็สามารถใช้บริการได้ปกติ แต่ถ้าพบว่าสายที่ใช้งานได้ แต่ถูกลากไปในตึกหรือในอาคารที่สงสัยว่าอาจใช้ในกลุ่มมิจฉาชีพ หรือใช้เพื่อกระทำความผิด เราก็จะดำเนินการ อย่างไรก็ตามเรามีการตรวจสอบสายที่ลากข้ามไปประเทศเพื่อนบ้าน หากผู้ประกอบการปฏิเสธว่าไม่ใช่เจ้าของก็จะมีการตัดตามขั้นตอน
เมื่อถามว่า หลังจากตัดสัญญาณแล้ว ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลดลงหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า จากการตรวจสอบกับตำรวจ พบว่าปัญหาลดลง 20% สถิติการใช้ลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงสถิติของคดีก็ลดลงด้วย ในส่วนของศูนย์ AOC ปัจจุบันมีการร้องเรียนประมาณ 3,000 สายต่อวัน โดยหลังเปิดศูนย์ประมาณหนึ่งปี มีตัวเลขลง 40% หลังใช้มาตรการตัดไฟ ตัดสัญญาณ ความเสียหายลดลง 20 % ถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะลดลงทั้งความเสียหาย และจำนวนเงินก็ลดลง ก่อนหน้านี้ความเสียหายกว่า 100 ล้าน แต่หลังเปิดศูนย์ตัวเลขลดลง เหลือ 60-70 ล้าน และหลังมีมาตรการตัดไฟ ตัดสัญญาณ ความเสียหายต่ำกว่า 50 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่ มาจากการหลอกให้ลงทุนเงินดิจิทัล ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นมาก แต่ค่าเสียหายน้อย และลดลงอย่างมีนัยสำคัญคือ ซื้อของไม่ตรงปก
นายประเสริฐ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการบังคับใช้ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ พ.ร.ก.ไซเบอร์ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นเดือนมี.ค.นี้ โดยภายในเดือนนี้ตนจะเรียกสถาบันการเงิน telco provider และแพลตฟอร์ม เข้ามาพูดคุย ทีละกลุ่ม ถึงความเข้าใจ ความรับผิดชอบในค่าความเสียหายว่าหมายถึงอะไร เพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติงาน ก่อนประกาศใช้กฎหมาย ทั้งนี้คาดว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในเดือนมี.ค.นี้