ซีพีเอฟ เปิดรายได้ปี 67 กำไรทะลุเป้า รับอานิสงส์การปรับสมดุลของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และการบริหารต้นทุนที่ดีขึ้น คาดการณ์ปี 68 ผลการดำเนินงานดีต่อเนื่อง พร้อมเสริมแกร่ง “นวัตกรรมความยั่งยืน” ติด Top1% S&P Global CSA score (DJSI) 


นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผย ผลการดำเนินงานของซีพีเอฟและบริษัทย่อย ในปี 2567 ว่า บริษัทมียอดขาย 580,747 ล้านบาท  กำไรสุทธิ 19,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 476% จากภาวะขาดทุนในปี 2566             
สำหรับสัดส่วนรายได้หลักปี 2567 มาจากกิจการต่างประเทศ 63% จากการลงทุนใน 13 ประเทศ สัดส่วนรายได้จากกิจการประเทศไทย 31%และสัดส่วนรายได้จากกิจการส่งออก 6%จากการทำการค้าผลิตภัณฑ์อาหารไปมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก    
ทั้งนี้ หากแยกสัดส่วนรายได้ตามประเภทธุรกิจหลัก แบ่งเป็น ธุรกิจอาหารสัตว์  คิดเป็นสัดส่วน 23% ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ คิดเป็น 55% และธุรกิจอาหาร คิดเป็น 22% 

    
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ภาพรวมผลประกอบการในปี 2567 ที่ดีขึ้นเกินเป้าหมาย  เป็นผลมาจากกิจการต่างประเทศมีการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานที่ดีอย่างชัดเจน จากการปรับสมดุลของปริมาณผลิตให้สอดคล้องกับกำลังซื้อ ทำให้อุตสาหกรรมสุกรฟื้นตัวจากภาวะราคาตกต่ำที่เกิดจากสินค้าล้นตลาดในปี 2566 โดยเฉพาะในประเทศเวียดนามที่ดีขึ้นเกินเป้าหมายจากภาวะราคาสุกรที่สูงขึ้นจากผลกระทบโรคระบาด ASF ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ การบริหารจัดการด้านประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์และการจัดหาวัตถุดิบที่ดีขึ้น การจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้นทุนทางการเงินที่ลดลงจากปีก่อน เหล่านี้ทำให้บริษัทมีต้นทุนที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นจากปีก่อน       


   
“แนวโน้มธุรกิจซีพีเอฟในปี 2568 ยังมองว่าจะสามารถรักษาระดับการเติบโตจากปีก่อนได้ต่อเนื่อง จากการที่บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาสินค้าที่สอดคล้องกับพฤติกรรมและความพึงพอใจของผู้บริโภค และมองหาโอกาสการลงทุนที่จะมาช่วยเพิ่มศักยภาพและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจหลัก ตลอดจนส่งเสริมนวัตกรรมความยั่งยืน (Sustainovation) เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจที่สามารถสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน สะท้อนจากการที่บริษัทได้รับประเมินความยั่งยืนองค์กรที่ระดับ Top 1% โดย S&P Global หรือเดิมที่เรารู้จักกันในชื่อ DJSI”  
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการดำเนินงานทุกด้านอย่างใกล้ชิด อาทิ การดำเนินนโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 2.0 ว่าจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศอย่างไร ปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนโรคระบาดสัตว์ที่มีการแพร่กระจายอยู่ในต่างประเทศหลายประเทศ ซึ่งทางบริษัทได้เพิ่มมาตรการดูแลป้องกันผลกระทบอย่างเข้มงวด เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารในแต่ละประเทศ
คณะกรรมการบริษัทซีพีเอฟ ได้มีมติให้จ่ายเงินปันผลครั้งที่สอง จากผลการดำเนินงานปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 0.55 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลครั้งแรกในอัตราหุ้นละ 0.45 บาท เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 รวมเป็นการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2567 ทั้งสิ้นในอัตราหุ้นละ 1.00 บาท ซึ่งจะมีการเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2568 เพื่อพิจารณาอนุมัติในวันที่ 24 เมษายน 2568 นี้