AOC 1441 เตือนภัย “โจรออนไลน์” หลอกลงทุนเทรดหุ้น – ข่มขู่โอนเงิน อ้างเป็นตำรวจ พบสูญเงินกว่า 16 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 68 นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 17 - 23 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์  มูลค่าความเสียหาย 4,500,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อชักชวนลงทุนเทรดหุ้นผ่านทาง Line อ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนของธนาคาร ผู้เสียหายสนใจจึงสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม จากนั้นมิจฉาชีพส่งลิงก์สำหรับการลงทุนเทรดหุ้นและให้กรอกข้อมูลส่วนตัว พร้อมทั้งให้โอนเงินตามคำแนะนำ ในช่วงแรกได้รับผลตอบเเทนจริง ต่อมาจึงโอนเงินเพิ่มมากขึ้น ภายหลังต้องการถอนเงินออกจากระบบ แต่ไม่สามารถถอนได้ มิจฉาชีพแจ้งว่าให้ลงทุนเพิ่มขึ้นอีก เมื่อถึงเป้าหมายที่กำหนด ระบบจะทำการโอนเงินทั้งหมดไปยังบัญชีธนาคารของผู้เสียหายโดยอัตโนมัติ หลังจากลงทุนถึงเป้าหมายแล้วไม่สามารถติดต่อได้และไม่ได้รับเงินคืน ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 1,320,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Tiktok ชักชวนทำงานหารายได้พิเศษ เป็นการกดจองที่พักผ่านแอปพลิเคชัน โดยจะต้องโอนเงินสำรองทุนไปก่อน และจะได้ค่าคอมมิชชันเป็นการตอบแทน ในช่วงแรกได้รับเงินจริง จึงโอนเงินเพิ่มมากขึ้น ต่อมาต้องการถอนเงินแต่ไม่สามารถถอนได้ มิจฉาชีพอ้างว่าทำไม่ครบกำหนดเงื่อนไขของบริษัทจึงไม่สามารถถอนเงินได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก 

คดีที่ 3 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 6,646,298 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดบัญชีม้า ขอตรวจสอบเส้นทางการเงินในบัญชี หากไม่ให้ความร่วมมือจะมีความผิดตามกฎหมายขั้นร้ายแรง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป หลังจากนั้นมิจฉาชีพติดต่อมาอีกครั้งให้ผู้เสียหายส่งรูปถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนและเอกสารบัญชีธนาคารเพิ่มเติม และให้โอนเงินไปอีกหลายครั้ง ภายหลังไม่สามารถติดต่อได้และไม่ได้รับเงินคืน ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 คดีหลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 1,965,497 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รับการชักชวนลงทุนเทรดเงินดิจิทัลผ่านช่องทาง Line โดยพูดคุยสนทนากันจนสนิทใจจึงตัดสินใจลงทุน มิจฉาชีพส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลส่วนตัวและติดตั้งแอปพลิเคชัน ต่อมาให้โอนเงินเข้าไปเพื่อแปลงเป็นสกุลเงินดิจิทัล จากนั้นให้ดำเนินการเริ่มลงทุน ในครั้งแรกได้กำไรจากการเทรดและถอนได้จริง จึงโอนเงินเข้าไปลงทุนมูลค่าสูงขึ้น ต่อมาผู้เสียหายต้องการถอนเงินแต่ไม่สามารถถอนได้ มิจฉาชีพแจ้งว่ามีกำไรสะสมเป็นเหรียญจำนวนมาก หากต้องการถอนเงินต้องโอนเงินเพื่อเป็นค่าภาษีและค่าธรรมเนียมก่อนจึงสามารถถอนเงินได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

และคดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) มูลค่าความเสียหาย 1,884,205 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook โดยใช้รูปโพรไฟล์เป็นหญิงสาวหน้าตาดี จากนั้นพูดคุยสนทนากันจนสนิทใจแต่ไม่เคยพบเจอกัน ต่อมามิจฉาชีพขอให้ผู้เสียหายโอนเงินช่วยเหลือในการลงทุนออมทอง โดยอ้างว่าหากได้ผลตอบแทนจะนำเงินมาสร้างครอบครัวด้วยกัน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปหลายครั้ง ภายหลังผู้เสียหายต้องการนัดพบเจอกัน ฝ่ายหญิงปฏิเสธและทำการบล็อกไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 16,316,000 บาท

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้

1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,498,244 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,128 สาย

2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 537,341 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,230 บัญชี

3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 167,362 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 31.15 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 126,104 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.47 (3) หลอกลวงลงทุน 77,964 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.51 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 54,167 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 10.08 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 38,924 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.24 (และคดีอื่นๆ 72,820 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 13.55) 

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการต่างๆ หลอกลวงผู้เสียหาย ทั้งการหลอกชักชวนให้ลงทุนเทรดหุ้น ผ่าน line ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อสูญเงินกว่า 4 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการหลอกลวงรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แอบอ้างบัญชีธนาคารผู้เสียหายเป็นบัญชีม้า และจะต้องทำการโอนเงินเพื่อตรวจสอบ ซึ่งถือเป็นวิธีหลอกลวงที่พบเห็นมากขึ้น ทั้งนี้ขอย้ำว่า การติดต่อทำธุรกรรมกับหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ จะไม่มีการโทรติดต่อโดยตรง หรือติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย ดังนั้นหากมีการติดต่อเข้ามาขอให้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการกระทำของมิจฉาชีพ ด้านการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบ และติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด”

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) |  Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com