ลงทุนปลอดภัย ออมเงินอย่างมั่นคง ด้วยพันธบัตรออมทรัพย์จากกรุงไทย
ขึ้นชื่อว่าการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการลงทุนแบบไหนย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยง จะเสี่ยงมากเสี่ยงน้อยก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการลงทุนแต่ละประเภท แต่มีการลงทุนอยู่ประเภทหนึ่งที่มีความมั่นคงสูงและการันตีได้ผลตอบแทนแน่นอน นั่นคือการลงทุนพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันจึงมีความเสี่ยงน้อยมาก ๆ เรียกได้ว่าแทบจะเป็นศูนย์ เห็นผลตอบแทนที่จะได้รับชัดเจนตั้งแต่เริ่มลงทุน ด้วยเหตุนี้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่นักลงทุนทั้งมือใหม่และมือโปรนิยมลงทุนอย่างมากในปัจจุบัน และสำหรับใครที่กำลังวางแผนลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับการลงทุนพันธบัตรออมทรัพย์จากกรุงไทยกัน
พันธบัตรรัฐบาลคืออะไร?
สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ซื้อพันธบัตรรัฐบาลมาก่อน ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจก่อนว่าพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลังหรือหน่วยงานภาครัฐเพื่อระดมทุนจากประชาชนและนักลงทุนเอกชน โดยรัฐบาลจะจ่ายคืนเงินต้นพร้อมผลตอบแทนให้กับผู้ที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลในรูปของดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ดอกเบี้ยปีละ 3% สัญญา 1 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปี เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลจึงมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล และมั่นใจได้ว่าจะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนตามกำหนด ไม่มีการเบี้ยวหนี้แน่นอน เพราะรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ก้อนนี้ การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจึงถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ๆ และเห็นผลตอบแทนชัดเจน เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อยและต้องการความมั่นคง
ทั้งนี้พันธบัตรรัฐบาลสามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้
- ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) เป็นพันธบัตรรัฐบาลแบบระยะสั้น โดยจะมีอายุตั้งแต่ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี นักลงทุนจะได้ดอกเบี้ยจากส่วนต่างของมูลค่าหน้าตั๋วเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน
- พันธบัตรแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate Government Bond) เป็นพันธบัตรรัฐบาลแบบระยะยาวจึงมีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป นักลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ครั้งต่อปี ส่วนเงินต้นจะได้รับคืนในวันที่ไถ่ถอน
- พันธบัตรออมทรัพย์ (Saving Bond) เป็นพันธบัตรรัฐบาลที่มุ่งเน้นขายให้กับประชาชนทั่วไป เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้ลงทุนและออมมากขึ้น จึงมักมีการกำหนดเงื่อนไขด้วยการจำกัดวงเงินการซื้อพันธบัตรไม่ให้สูงเกินไปและภายในปีแรกห้ามมีการซื้อขายพันธบัตรนอกกลุ่มนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา
- พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-linked Bond) ผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ และจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยในทุก ๆ 6 เดือน และเมื่อไถ่ถอน
- พันธบัตรอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate Bond) คล้ายพันธบัตรอัตราดอกเบี้ยคงที่ ส่วนมากมีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
พันธบัตรรัฐบาลต่างจากกองทุนรวมอย่างไร?
พันธบัตรรัฐบาลกับกองทุนรวมตราสารหนี้เป็นรูปแบบการลงทุนที่มีความใกล้เคียงกัน กล่าวคือเป็นการลงทุนในตราสารหนี้เหมือนกัน ต่างกันตรงที่พันธบัตรรัฐบาลส่วนมากจะเป็นการลงทุนของประชาชนทั่วไปและนักลงทุนรายย่อยที่รับความเสี่ยงได้น้อย รวมถึงต้องการความมั่นคงในการลงทุน ขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้เน้นการลงทุนในตราสารหนี้แทบทุกประเภท ไม่ได้จำกัดอยู่แค่พันธบัตรรัฐบาลเท่านั้น เช่น พันธบัตรรัฐ ตั๋วเงินคลัง ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้เอกชน เป็นต้น โดยจะเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากเข้ามาซื้อกองทุนเพื่อระดมเงินมาลงทุนในตราสารหนี้ตามนโยบายของสถาบันนั้น ๆ มีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมืออาชีพบริหารจัดการให้ โดยการลงทุนในกองทุนจะให้ผลตอบแทนทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่ได้รับความเสี่ยงได้น้อยเช่นกัน
วิธีซื้อพันธบัตรรัฐบาล
พันธบัตรรัฐบาลจะมีการซื้อขายอยู่ 2 แบบ ดังนี้
ตลาดแรก (Primary Market)
การซื้อขายพันธบัตรตั้งแต่เริ่มมีการเปิดตัว ซึ่งเป็นการซื้อขายระหว่างผู้ออกพันธบัตรกับนักลงทุน โดยกลุ่มนักลงทุนในตลาดแรกนี้มีด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ
- นักลงทุนรายย่อยหรือบุคคลทั่วไป นักลงทุนรายย่อยสามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ที่ธนาคารพาณิชย์ ด้วยราคาขายเริ่มต้นเพียง 1 บาทต่อหน่วย แต่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อหน่วย หรือเป็นไปตามเงื่อนไขของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นนั้น ๆ
- นักลงทุนสถาบัน การขายจะเป็นการตั้งราคา ต้องเสนอราคาเพื่อประมูลซื้อ
ตลาดรอง
ส่วนมากมักเป็นการซื้อขายทั้งที่ยังไม่ครบกำหนดสัญญา เป็นการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลระหว่างนักลงทุนกับนักลงทุนจึงสามารถตกลงราคากันเองได้อย่างอิสระ อีกทั้งยังสามารถซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ผ่านโบรกเกอร์ได้เช่นกัน
พันธบัตรรัฐบาลเปิดขายช่วงไหนบ้าง
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกสามารถติดตามข่าวการเสนอขายพันธบัตรรัฐบาลได้ที่หน้าเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงติดตามข่าวสารผ่านหน้าเว็บไซต์ธนาคารพาณิชย์อย่างธนาคารกรุงไทย และเมื่อถึงเวลาเปิดขายพันธบัตรรัฐบาลก็สามารถซื้อได้ผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Krungthai NEXT นอกจากนี้แอปพลิเคชันของภาครัฐอย่างเป๋าตังก็เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้เช่นกัน โดยมีกำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 100 บาท และสูงสุดที่ 50 ล้านบาท
คุณสมบัติผู้จองซื้อพันธบัตรรัฐบาล
สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการซื้อพันธบัตรของรัฐบาลที่ขายบนวอลเล็ต สบม. ในแอปพลิเคชัน เป๋าตัง จะต้องเป็นบุคคลที่ถือสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ผู้ที่มีอายุไม่ครบ 20 บริบูรณ์จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อนการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ส่วนการซื้อพันธบัตรรัฐบาลผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายจะต้องเป็นบุคคลที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย หากเป็นนิติบุคคลจะต้องไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร เช่น มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ วัด สถานศึกษาและโรงพยาบาลของรัฐ
ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลกับกรุงไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการลงทุนที่เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย ต้องการความมั่นคงและผลตอบแทนที่แน่นอน นอกจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแล้ว ธนาคารกรุงไทยยังมีการลงทุนรูปแบบอื่น ๆ ที่สามารถตอบสนองทุกความต้องการทางการเงินของนักลงทุนได้ เช่น กองทุนรวมตลาดเงินที่สามารถเลือกซื้อกองทุนได้หลากหลาย ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารตลาดเงินภาครัฐ (KTSV) กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารตลาดเงิน (KTSS) และกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารตลาดเงินสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVDKTSS) เป็นต้น
สำหรับท่านใดที่สนใจซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือพันธบัตรออมทรัพย์สามารถดูรายละเอียดได้ ที่นี่ รวมถึงสามารถเข้าไปดูทางเลือกการลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากกรุงไทยได้ที่ https://krungthai.com/th/content/personal/investment/mutual-funds