“สมศักดิ์” นำทัพ สธ.แถลงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ Medical & Wellness Hub กำหนด 7 นโยบายหลัก “จัดตั้งสำนักงานนโยบายและเศรษฐกิจสาธารณสุภาพ-ยกระดับภูมิปัญญาไทย-ยกระดับสมุนไพรไทย-ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ-ส่งเสริมศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์-ส่งเสริมธุรกิจดูแลสุขภาพความงาม มั่นใจ ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 6.9 แสนล้านบาท หวังช่วยกระตุ้น GDP ของประเทศ

วันที่ 19 ก.พ. 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบนโยบายและแถลงข่าวการเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวง นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 และผู้บริหารกระทรวง เข้าร่วม ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ขยับตัวเพิ่มขึ้น 3% คาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจของประเทศไทย จะขยายตัวได้ถึง 2.6% ถือเป็นสัญญานที่ดีของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ อัตราการเติบโตส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยว ส่วนในด้านการลงทุนจากภาคเอกชน ยังสามารถเติบโตได้อีก โดยในแต่ละปี กระทรวงสาธารณสุข ใช้งบประมาณสูงกว่า 320,000 ล้านบาท ยังไม่นับรวมถึงเงินบำรุงของโรงพยาบาล และเงินด้านสาธารณสุขจากหน่วยงาน อย่าง กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม ซึ่งถือเป็นภาระทางงบประมาณที่ กระทรวงต้องร่วมแรงร่วมใจกันบริหารจัดการ 

“วันนี้ นอกเหนือความพยายามในการลดผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs ตั้งแต่การนับคาร์บ การจัดตั้งศูนย์ NCDs เพื่อเก็บข้อมูลเพื่อส่งเสริมการลดจำนวนผู้ป่วย เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในระยะกลาง และระยะยาวแล้วนั้น การแถลงข่าวในช่วงเช้านี้ จะเป็นการนำเสนอ ความสามารถของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลท่านนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะ กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ซึ่งประกอบไปด้วย 7 นโยบายหลักในสาขาเป้าหมายต่างๆ มีแนวโน้มช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในปี 2568 คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 6.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.39 ของ GDP” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การคิดคำนวณผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจรวม ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีฐานที่มาจากการคำนวณผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการใช้งบประมาณหรือการลงทุน โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลและแบบจำลองทางเศรษฐกิจ เช่น แบบจำลองบัญชีเมตริกซ์สังคม ของประเทศไทย หรือ ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของหน่วยงานต่างๆ เช่น กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ ตัวอย่างเช่น หากรัฐบาลลงทุน 900 ล้านบาท เพื่อจัดอบรมนวดไทย คาดว่า จะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจรวมเป็นมูลค่า 2,277 ล้านบาท คำนวณจาก 900 ล้านบาท คูณด้วยค่า multiplier 2.53 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การลงทุนนี้ไม่ได้ส่งผลเฉพาะกับธุรกิจนวดไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจซักล้างเสื้อผ้า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การเช่าที่พัก และธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่อาจได้รับประโยชน์จากกิจกรรมนี้ด้วย

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า 7 นโยบายหลัก ประกอบด้วย 1. การจัดตั้ง “สำนักงานนโยบายและเศรษฐกิจสาธารณสุข (สนศส.) 2. การยกระดับภูมิปัญญาไทย 3. การยกระดับสมุนไพรไทย ยาไทย และอาหารไทย 4. การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 5. การส่งเสริมศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ 6. การขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง และ 7. การส่งเสริมธุรกิจดูแลสุขภาพบุคคลและความงาม โดยนโยบายเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพ จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น 6.9 แสนล้านบาท

ขณะที่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ประเด็นที่ 1 การจัดตั้ง “สำนักงานเศรษฐกิจสุขภาพ” โดยภาพรวม สำนักงานนี้เป็นสำนักงานระดับกรม ทำหน้าที่ วิเคราะห์ วิจัย และกำหนดนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพและการคลังสุขภาพ นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายบนพื้นฐานของข้อมูลที่แม่นยำ เพื่อสร้างระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน ที่สำคัญยังเป็นหน่วยงานหลักที่พร้อมจะส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนา การบริการ และการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ด้าน นพ.สมฤกษ์ กล่าว่า ประเด็นที่ 2 ยกระดับภูมิปัญญาไทย ซึ่งการขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ การนวดแผนไทย และการพัฒนาสู่การนวดเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการได้แก่ กลุ่มปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Office syndrome) โรคหัวไหล่ติด โรคนิ้วล็อก ภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท หรือ ปวดสลักเพชร หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อัมพฤกษ์ อัมพาต และกลุ่มระบบสืบพันธุ์ ส่วนนโยบายที่ 3 ยกระดับสมุนไพรไทย ยาไทยอาหารไทย หมวดที่ 1 ยาสมุนไพร เป็นการผลักดัน ตามนโยบาย “เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไป หาหมอ” ได้แก่ การผลักดันการใช้ยาสมุนไพรในระบบหลักประกันสุขภาพ เพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติทุกรายการ รวม 106 รายการ เบิกจ่ายจาก สปสช. แบบ Fee Schedule พร้อมปรับระบบบริการผู้ป่วยนอกที่เอื้อต่อการสั่งจ่ายยาของแพทย์ เพื่อส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร 32 รายการ ในผู้ป่วย 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อย ให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 หมวดที่ 2 สมุนไพรไทย เช่น การผลักดัน กระท่อมกัญชา กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และไพล เข้าสู่ตลาดสมุนไพรระดับโลก หมวดที่ 3 อาหารไทย เช่น โพรไบโอติกส์ – พรีไบโอติกส์ จากอาหาร

ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า นโยบายที่ 4 ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ GWI ประมาณการมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เมื่อปี 2566 อยู่ที่ 220.5 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 315 ล้านล้านบาท ในปี 2571 (เติบโตเฉลี่ย 7.3% ต่อปี) ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก มีมูลค่า 1.42 ล้านล้านบาท โดยแนวนโยบายในการขับเคลื่อนที่สำคัญ เช่น 1. ประชาสัมพันธ์เส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เช่น สปา บ่อน้ำพุร้อน แหล่งน้ำแร่ 2. การจับคู่โรงแรมกับโรงพยาบาล เพื่อให้บริการแพคเกจสุขภาพ  3. เพิ่มคลินิก Wellness การแพทย์ การแพทย์แผนไทยในโรงแรม ส่งเสริมเวชศาสตร์วิถีชีวิต โดยเรามีตัวอย่างโมเดลที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว คือ ภูเก็ต เวลเนส แซนบล็อค โมเดล Wellcation ของเขตสุขภาพที่ 5 และหาดใหญ่ เมดิเคิลฮับ

นพ.สุรโชค กล่าวว่า นโยบายที่ 5 ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ มูลค่าตลาดโลกของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เมื่อปี 2564 ที่ 84,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบขึ้นเป็น 178,500 ล้านบาท ในปี 2569 โดยประเทศไทยปี 2566 มีมูลค่าตลาดราว 200,000 ล้านบาท มูลค่านำเข้า 90,000 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 118,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ซับซ้อน เช่น กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยางทางการแพทย์ หลอดสวน หลอดฉีดยากลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ เตียงผู้ป่วย เตียงตรวจ รถเข็นผู้ป่วย ซึ่งแนวนโยบายสำคัญ เราจะส่งเสริมการผลิตสินค้านวัตกรรม มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น และเร่งรัดกระบวนการอนุมัติ อนุญาต และทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์เพื่อขึ้นทะเบียน อย. ส่งเสริมการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่มีความซับซ้อน เช่น กระดูกเทียม รากฟันเทียม โดยใช้วิธีแมชชิง ระหว่างผู้วิจัยและผู้ที่จะผลิตต่อ ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระยะที่1 (พ.ศ. 2566-2570) ที่จะผลักดันให้ไทย เป็นผู้นำด้านเครื่องมือแพทย์ในปี 2570 

นพ.มณเฑียร กล่าวว่า นโยบายที่ 6 ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูงโดยมูลค่าการตลาดผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูง หรือ (Advanced Therapy Medicinal Products: ATMPs) ในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ในปี 2567 ตลาด ATMPs ของโลก มีมูลค่า 419,650 ล้านบาท คาดว่าปี 2573 มูลค่าตลาดจะเติบโตถึง 1.25 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงได้ดำเนินการ เดือนธันวาคม พบผู้ประกอบการ เช่น คณะแพทย์หญิง ศิริพร ธนินทรานนท์ วันที่ 26 ธันวาคม 2567 สบส. จัดการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง ATMPs วันที่ 7 มกราคม 2568 รมว.สธ. ลงนามในคำสั่ง สธ. ที่ 14/2568 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการใช้ผลิตภัณฑ์การแพทย์ชั้นสูง ในสถานพยาบาลทดลอง (ATMPs Sandbox) เพื่อเสนอความเห็น ข้อเสนอแนะ วันที่ 13 ก.พ. 2568 ปสธ. ลงนามในคำสั่ง สธ. ที่ 222/2568 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง เพื่อนำข้อเสนอแนะ ไปสู่การปฏิบัติ วันนี้ 19 ก.พ. 2568 การลงนามความร่วมมือในการวิจัยและใช้ ATMPs (Stem Cells) ในสถานพยาบาลทดลอง Sandbox ระหว่าง 6 หน่วยงานในกำกับของ สธ. กับ 3 คณะแพทย์ มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาสงขลานครินทร์ โดยใน 1 เดือน ทุกกรมต้องทำแผนปฏิบัติการเสนอกรรมการจนได้ข้อสรุป ทุกสถานพยาบาลทดลองต้องหาพันธมิตร เอกชน และคณะแพทย์ในการทดลองและพัฒนาและใช้ ATMPs และขอความอนุเคราะห์ให้มหาวิทยาลัย ช่วยเสนอแนวทางการสนับสนุนวิชาการเรื่อง ATMPs 

นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า นโยบายที่ 7 การดูแลบุคคลและความงาม (Personal Care and Beauty) หมวดที่ 1 เวชศาสตร์ความงาม มูลค่าตลาดเวชศาสตร์ความงามของโลก ในปี 2564 อยู่ที่ 1.86 ล้านล้านบาท มูลค่าตลาดเวชศาสตร์ความงามของไทย ในปี 2564 อยู่ที่ 50,000 ล้านบาท (คิดเป็น 2.69% ของมูลค่าตลาดโลก) อัตราเติบโตของตลาดเวชศาสตร์ความงามในช่วงปี 2564 – 2573 อยู่ที่ 10% ต่อปี โดยเวชศาสตร์ความงาม แบ่งเป็น หัตถการเสริมความงาม คือ การช่วยรักษา ฟื้นฟู และดูแลผิวในระยะยาวเช่น ฉีดโบทอกซ์ ฟิลเลอร์ เลเซอร์ผิว ร้อยไหมยกระชับ ลดไขมัน ปรับรูปร่าง รูปหน้า ศัลยกรรมเสริมความงาม เช่น ทำจมูก ทำตา ดูดไขมัน เสริมหน้าอก หมวดที่ 2 จิตเวชและพฤติกรรมบำบัด (Rehab Centre) คือ การดูแลผู้ป่วยจิตเวชแบบพักค้างคืน การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติด และพฤติกรรมบำบัดชาวต่างชาติ ค่าบริการ 250,000 - 525,000 บาทต่อเดือน หมวดที่ 3 การอุ้มบุญ และเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ โดยตอนนี้เรามีการผลักดันการแก้ไขกฎหมาย พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ที่กำหนดให้สิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สามารถจดทะเบียนสมรสได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และสามารถขออนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนได้ และหมวดที่ 4 การผ่าตัดยืนยันเพศสภาพ ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ จากชายเป็นหญิง รพ.เอกชน อยู่ที่ราว 300,000 บาท จากหญิงเป็นชาย รพ.เอกชน อยู่ที่ราว เกือบ 1,000,000 บาท

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ มานานแล้ว ซึ่งเหมือนปิดทองหลังพระ ในการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ แต่ขณะนี้ เราจะเดินหน้าขับเคลื่อนแบบชัดเจน ผ่าน 7 นโยบายหลัก โดยนโยบายที่จะได้ผลเร็ว คือ การยกระดับภูมิปัญญาไทย ที่กำหนดให้มีการนวดเฉพาะทาง 7 กลุ่มอาการ โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 6.9 แสนล้านบาท พร้อมมั่นใจว่า เศรษฐกิจสุขภาพไม่มีตก ซึ่งมีแต่เพิ่ม เพราะการแพทย์ไทย ถือเป็นชั้นนำของโลก และเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก