เข้าสู่หัวเลี้ยว หัวต่อ ที่สำคัญกันเลยก็ว่าได้ สำหรับ สถานการณ์ของประเทศยูเครน

เมื่อเหล่าบรรดาผู้นำหลายประเทศของภูมิภาคยุโรป ตบเท้าเข้าร่วมประชุมที่กรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส เมื่อช่วงสัปดาห์นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน ประเทศที่กำลังเผชิญหน้าและภินท์พังจากสงครามที่ดำเนินมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว หรือนับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) ที่กองทัพรัสเซีย ภายใต้คำสั่งปฏิบัติการพิเศษทางทหารของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การประกาศสงคราม นั่นเอง

โดยในวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์สัปดาห์หน้านี้ ก็จะครบ 3 ปีเต็มๆ สำหรับ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” อันเป็นหนึ่งในสงครามที่มีผลต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกในยุคร่วมสมัยของพวกเรา

ท่ามกลางการเจรจาหารือที่กำลังจะมีขึ้นนี้ ทั้งในส่วนของเหล่าบรรดาผู้นำประเทศในภูมิภาคยุโรป รวมถึงอาจจะมีของคณะตัวแทนของสหรัฐฯ และรัสเซีย ที่จะมีขึ้นก่อนการหารือระดับผู้นำของสหรัฐฯ และรัสเซีย คือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ปรากฏว่า สถานการณ์และบรรยากาศในยูเครนก็กำลังฝุ่นตลบ

การสู้รบระหว่างกองทัพรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อเนื่อง แม้สงครามกินเวลามานานเกือบ 3 ปีแล้วก็ตาม (Photo : AFP)

เป็นสถานการณ์และบรรยากาศของฝุ่นตลบจากสงครามการสู้รบทางทหาร และสงครามทางการเมืองภายในของยูเครนเอง

โดยสงครามการสู้รบทางทหารที่ยูเครนเผชิญ ก็เป็นวิกฤติปัญหาที่ยูเครนประสบ ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 3 ปี หรือถ้าจะนับรวมไปถึง “สงครามกลางเมือง” ในพื้นที่ภูมิภาคตะวันออกของประเทศ ก็ต้องถือว่า ยูเครนเผชิญปัญหานี้มากว่า 10 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2014 (พ.ศ. 2557) กันมาเลยก็ว่าได้ เมื่อกองกำลังติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซียและรัสเซียให้การสนับสนุน สู้รบกับกองทัพรัฐบาลเคียฟ อันเป็นรัฐบาลกลางของยูเครน จนนำไปสู่การสูญเสียดินแดนของยูเครน ทั้งในพื้นที่ภูมิภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งก็คือแคว้นดอนบาส ที่เมืองสำคัญต่างๆ หลายเมืองมีอันต้องหลุดลอยจากการปกครองของรัฐบาลกลางยูเครนไป เช่น โดเนตสก์ ลูแกนสก์ หรือลูฮันสก์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยูเครนยังได้เสียดินแดน “แคว้นไครเมีย” ไปให้แก่รัสเซียจากผลพวงของสงครามกลางเมืองดังกล่าวด้วย

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวปราศรัยในงานเฉลิมฉลองครบ 10 ปีที่ผนวกดินแดนแคว้นไครเมียจากยูเครน มาเป็นของรัสเซีย จากผลพวงของสงครามกลางเมืองที่รัสเซียสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยูเครน  (Photo : AFP)

ทั้งนี้ จากการเสียดินแดนตามผลของสงครามกลางเมืองข้างต้นของยูเครน ก็ถึงขนาดที่ “นายพีท เฮกเซธ” ผู้ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ” หรือ “เพนตากอน” ออกมเอ่ยปากในขณะเข้าร่วมการประชุมกับคณะรัฐมนตรีตัวแทนชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ที่สำนักงานใหญ่ของนาโต ในกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่จะมีการเตรียมการเจรจาว่าด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครนว่า เป็นไปไม่ได้จริงๆ ที่ยูเครนจะกลับไปเหมือนเดิม ก่อนปี 2014 (พ.ศ. 2557) อันเป็นปีที่เริ่มสงครามกลางเมืองแบ่งแยกดินแดนของยูเครน ไม่ว่าจะมีการเจรจากันอย่างไรก็ตามกับคู่ขัดแย้ง คือ รัสเซีย

นอกจากยูเครน ต้องสูญเสียดินแดนภูมิภาคตะวันออก และแคว้นไครเมียเหล่านั้นแล้ว ทั้งเจ้ากระทรวงเพนตากอน และเหล่าบรรดานักวิเคราะห์เอง ก็แสดงทรรศนะว่า ยูเครน ก็จำต้องเสียดินแดนมากไปกว่านั้นด้วย หากมีการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย เพื่อยุติสงครามการสู้รบที่มีมาร่วม 3 ปี ทว่า ก็ยังดีเมื่อเปรียบเทียบกับสงครามสู้รบที่ไม่จบสิ้น และมีแนวโน้มว่า ยูเครนจะเสียดินแดนให้แก่รัสเซียเพิ่มเติมอีก

โดยเหล่าบรรดานักวิเคราะห์ ยังแสดงทรรศนะด้วยว่า เป็นเพราะยูเครน ขึ้นสู่โต๊ะเจรจากับรัสเซีย ในฐานะผู้เสียเปรียบในสงคราม แตกต่างจากรัสเซีย ที่เป็นฝ่ายเหนือกว่า จากการทำสงครามสู้รบในช่วงที่ผ่านมา นั่นเอง ทำให้การเจรจาต่อรองของยูเครนแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย หรือเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะเรียกร้องเอาดินแดนที่เสียไปแล้วเหล่านั้นกลับคืนมา ไม่นับเรื่อง “อธิปไตยของยูเครน” ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีว่า ยังมีอยู่จริงหล่ะหรือ? ในการตัดสินใจของการทำข้อตกลงต่างๆ กับรัสเซีย

สำหรับ ปัจจุบันรัสเซียครอบครองดินแดนของยูเครนถึงร้อยละ 20 จากผลของสงครามการสู้รบ ที่รัสเซีย เป็นฝ่ายกรีธาทัพยกข้ามพรมแดนเข้ามารุกรานยูเครนกันถึงถิ่นตลอดช่วง 3 ปีข้างต้น

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวปราศรัยที่รัฐสภายูเครน ในกรุงเคียฟ (Photo : AFP)

ขณะเดียวกัน ในยูเครน ณ เวลานี้ ก็ยังเผชิญหน้ากับสงครามภายใน นั่นคือ ศึกการเมืองระหว่างรัฐบาลของประธานาธิบดีเซเลนสกี กับเหล่าฝ่ายค้าน และฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ที่มีอยู่ทั้งในและนอกประเทศยูเครน นอกจากนี้ ก็ยังมีพวกที่แปรพักตร์จากที่สนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดีเซเลนสกี แต่ไม่ชอบใจในการจัดการกับสงครามในช่วงที่ผ่านมา เลยกลายเป็นคนละพวกกันไป

ทั้งนี้ กลุ่มฝ่ายต่อต้านเหล่านี้ ก็ยังไม่พอใจที่ประธานาธิบดีเซเลนสกี ต่ออายุการบริหารประเทศหลายครั้งหลายคราว ทั้งๆ ที่วาระการดำรงตำแหน่งจริงๆ ของเขานั้นได้หมดไปตั้งแต่พฤษภาคมปีที่แล้ว แต่ที่ยังอยู่ต่อเพราะอ้างว่า เพื่อการจัดการปัญหาสงครามที่ประเทศเผชิญ

อดีตประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก แห่งยูเครน ที่ลี้ภัยในต่างแดน โดยในภาพเป็นการกล่าวปราศรัยในที่ประชุมพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน หรือซีดียู กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อปีที่แล้ว (Photo : AFP)

โดยในส่วนของฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลประธานาธิบดีเซเลนสกีนั้น มีทั้งที่อยู่ในยูเครน และนอกประเทศยูเครน ซึ่งในส่วนของฝ่ายค้านในยูเครนนั้น ก็ใช้รัฐสภาเป็นเวทีโจมตีรัฐบาลประธานาธิบดีเซเลนสกีที่พวกเขาเห็นว่า ล้มเหลวในการจัดการสงครามที่ประเทศกำลังเผชิญ ขณะที่ ในส่วนของฝ่ายต่อต้านที่อยู่นอกประเทศยูเครนนั้น ก็ถือว่า ต้องจับตาในความเคลื่อนไหว ณ ชั่วโมงนี้ ในช่วงท่ามกลางที่จะมีการเจรจาหารือยุติสงคราม เพราะเคยเป็นผู้มีอิทธิพลแต่เก่าก่อนในยูเครน และปัจจุบันก็น่าจะยังมีผู้นิยมชมชอบพวกเขาอยู่มิใช่น้อย เช่น อดีตประธานาธีบดีเปโตร โปโรเชนโก และนายวิกเตอร์ เมดเวกชุก อดีตผู้นำฝ่ายค้านของยูเครน ซึ่งทั้งสองคนลี้ภัยอยู่ในต่างแดน

นายวิกเตอร์ เมดเวกชุก อดีตผู้นำฝ่ายค้านของยูเครน ที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในต่างแดน (Photo : AFP)

ทั้งนี้ กลุ่มคนเหล่านี้หมายใจว่า จะได้กลับประเทศ และอาจจะได้ลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งอีกครั้ง ที่คาดว่า อาจจะมีในปลายปีนี้ หากการเจรจายุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนประสบความสำเร็จเรียบร้อยเป็นอย่างดี