"สภาพัฒน์" เผยจีดีพี Q4/67 โต 3.2% ทั้งปี 67 แตะ 2.5% ปี 68 ขยายตัว 2.3-3.3% 

เมื่อวันที่ 17 ก.พ.68 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2567 ขยายตัว 3.2% เร่งขึ้นจากไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 3% โดยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ การส่งออกสินค้าและบริการ การอุปโภคภาคเอกชน ส่วนภาคการเกษตรกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ และภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ต้องการแก้หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

สำหรับ GDP ปี 2567 ขยายตัว 2.5% เร่งขึ้นจาก 2.0% ในปี 2566 มีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคบริโภคเอกชนและการส่งออกสินค้า ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อปี 2567 อยู่ที่ 0.4% ชะลอลงจากปี 2566 ที่ 1.2% อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1% ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 2.3% ซึ่งเกินต่อเนื่องจากปี 2566 อยู่ที่ 1.5%

ขณะที่ประมาณการเศรษฐกิจปี 2568 คาด GDP ขยายตัวที่ 2.3-3.3% (ค่ากลาง 2.8%) เท่ากับประมาณการครั้งก่อน โดยมีปัจจัยหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวของภาคของส่งออก ส่วนปัจจัยเสี่ยง ยังต้องจับตานโยบายสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะมาตรการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าและการจัดเก็บภาษีศุลกากร อาจทำให้ GDP ไม่ถึง 3% ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับ และความเสี่ยงจากการผันผวนในภาคการเกษตรทั้ผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรสำคัญ

นายดนุชา กล่าวอีกว่า การคาดการณ์ GDP ปี 2568 ขยายตัว 2.3-3.3% ได้รวมมาตรการแจกเงินหมื่นและความเสี่ยงจากนโยบายการค้าโลกแล้ว ส่วนเป้าหมายที่รัฐบาลต้องกาารให้ GDP ขยายตัวถึง 3.5% นั้น มองว่าต้องมีมาตรการเสริมการลงทุนและกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนจากภาครัฐ ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมถึงต้องพิจารณาเม็ดเงินที่เหลืออยู่ ซึ่งหลังจากมีการแจกเงินหมื่นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้สูงอายุไปแล้ว มีเม็ดเงินเหลืออยู่ในขณะนี้ราว 1.57 แสนล้านบาท โดยมองว่าช่วงครึ่งปีหลังเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในกระจายการเม็ดเงินลงทุนภาครัฐ ซึ่งต้องมีการจัดทำแพ็คเกตการลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยทำเป็นโครงการไม่ใหญ่ ขนาด 5-10 ล้านบาท เพื่อกระจายไปในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยการส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว ก็อาจทำให้เป้าหมายของรัฐบาลประสบความสำเร็จได้ และยังช่วยสร้างความมั่นคงในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ แก้ปัญหาภัยพิบัติในระดับหนึ่งด้วย ส่วนข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการรับมือกับนโยบายทรัมป์ที่กำลังจะเริ่มขึ้นนั้น มองว่า ภาครัฐ ควร เร่งส่งเสริมเม็ดเงินการลงทุน กระตุ้นภาคการส่งออกและส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

#สภาพัฒน์ #จีดีพี #ข่าววันนี้ #หนี้ครัวเรือน #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์