ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก, พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป., พ.ต.อ.สิทธิพร  กะสิ ผกก.2 บก.ปปป. 


สำนักงาน ป.ป.ท. ภายใต้การอำนวยการของ นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการ ป.ป.ท. และ นายเอกชัย เกษมสุขธวัช รองเลขาธิการฯ มอบหมายให้ พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้ช่วยเลขาธิการฯ และ พ.ต.ท.สราวุธ คำเหลือง ผู้อำนวยการกองอำนวยการต่อต้านการทุจริต  ร่วมกันจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหา 

นางสาวนิธิมา สุหทัยกุล อายุ 52 ปี ตามหมายจับของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่ 6/2565 วันที่ 20 พฤษภาคม 2565  สถานที่จับกุม บริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กทม. 
       

  ข้อหา เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147  เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการ ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่ อาจทําให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตําแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตําแหน่งหรือหน้าที่นั้น     เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ ด้วยกฎหมายสําหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

 
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2557 ขณะที่ผู้ต้องหาตามหมายจับมีตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานประกันสังคม ตำแหน่งนิติกร (พนักงานชั้นสูง) สังกัดสำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3 กระทรวงแรงงาน มีหน้าที่ในการฟ้องร้องคดีกับบุคคลที่มาส่งเงินเข้าประกันสังคม โดยเป็นการให้เช็ค แต่หากมีบุคคลใดให้มาแล้วแต่นำไปขึ้นเงินไม่ได้(เช็คเด้ง) นางสาวนิธิมาฯก็จะมีหน้าที่ในการฟ้องร้องให้ชดใช้เงินให้ส่งประกันสังคมให้ครบตามจำนวนที่ขาดไป แต่เมื่อนางสาวนิธิมาฯ ฟ้องร้องจนได้เงินคืนแล้ว ก็จะทำการยักยอกเงินกองทุนประกันสังคม โดยอ้างว่าฟ้องร้องยังไม่เสร็จบ้าง ยังไม่ได้รับเงินที่ฟ้องบ้าง เป็นเหตุให้สำนักงานประกันสังคมได้รับความเสียหาย รวมจำนวน 10,085,300.50 บาท ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ท.มีมติชี้มูลความผิด แต่ผู้ต้องหาไม่ไปพบพนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลตามกำหนดนัด พนักงานสอบสวนจึงออกหมายจับผู้ต้องหาเพื่อนำผู้ต้องหาฟ้องคดีต่อศาล 


ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.)และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.สืบทราบว่า นางสาวนิธิมาฯ บุคคลตามหมายจับของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่ 6/2565 วันที่ 20 พ.ค.2565 หลบหนีมาทำงานอยู่ที่ บริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กทม. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม ทำการสืบสวนจนพบว่านางสาวนิธิมาฯ กำลังให้บริการลูกค้าอยู่จึงแฝงตัวไปเป็นลูกค้าใช้บริการและเห็นว่าเป็น นางสาวนิธิมาฯ จริงเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อนางสาวนิธิมาฯ โดยได้มีการแสดงความบริสุทธิ์ใจ และแสดงหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่ 6/2565 ลงวันที่ 20 พ.ค.2565 ให้นางสาวนิธิมาฯดูจนเป็นที่พอใจแล้วและรับว่าเป็นบุคคลเดียวกันตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่ 6/2565 ลงวันที่ 20 พ.ค.2565 และยังไม่เคยถูกจับในคดีนี้มาก่อน จึงนำตัวนางสาวนิธิมาฯไปส่งที่ทำการอัยการสำนักงานคดีปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป                

สอบถามปากคำเบื้องต้น ผู้ต้องหายังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา