“รมช.ทรงศักด์” มอบนโยบายด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประจำปี 2568 ยกระดับและเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการสาธารณภัยให้พร้อมรับกับทุกสถานการณ์ภัย เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” สร้างความปลอดภัยแก่พี่น้องประชาชน

วันนี้ (13 ก.พ. 68 เวลา 10.30 น.) ที่ห้องประชุม convention center โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม มอบนโยบายด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อกำหนดทิศทาง เชิงนโยบายและกรอบแนวทางการปฏิบัติในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศที่เป็นระบบสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติและพร้อมรับสาธารณภัยที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยมี นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวินัย โตเจริญ รองอธิบดีกรมการปกครอง ผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ทุกเขต หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ทุกจังหวัด ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ปภ. เข้าร่วมประชุมฯ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสาธารณภัยมีความรุนแรงและซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชน นับเป็นความท้าทายของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ต้องยกระดับและเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการสาธารณภัยให้พร้อมรับกับทุกสถานการณ์ภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน ดังนั้น การทำงานจะต้องทำงานในเชิงรุกโดยให้ความสำคัญกับ “การป้องกัน” โดยเตรียมความพร้อมและลดผลกระทบในช่วงก่อนเกิดภัย ทั้งเสริมสร้างความรู้ความด้านสาธารณภัยให้กับประชาชน เพราะประชาชน คือ หัวใจสำคัญของการบริหารจัดการภัยพิบัติ เพื่อให้สามารถป้องกันตนเองและช่วยเหลือชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอีกหนึ่งสิ่งที่ควรให้ความสำคัญนั้น คือ “การบรรเทา” โดยการเยียวยาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในเบื้องต้นพร้อมทั้งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

“ภารกิจของกรมป้องกันและบรรเทาบรรเทาภัยควรเน้นหนักในเรื่องของการป้องกัน หากการป้องกันดีและมีประสิทธิภาพ โอกาสในการที่เกิดภัยพิบัติจะน้อยลง และความรุนแรงก็จะเบาบางลงดังนั้น ปภ. ต้องทำหน้าที่ของการป้องกันให้ดีที่สุด” นายทรงศักดิ์ รมช.มท. กล่าว

รมช.มท. นายทรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ยึดนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงมหาดไทยเป็นหลักในการดำเนินงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยคำนึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงปฏิบัติตามกฏหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และนำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570 มาใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานที่ครอบคลุม ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย พร้อมให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือนภัย โดยบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาวิเคราะห์หาแนวโน้มและคาดการณ์การเกิดสาธารณภัยล่วงหน้า เพื่อให้การการแจ้งเตือนภัย ถูกต้อง แม่นยำ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พี่น้องประชาชน อีกทั้งให้มีการทบทวนกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อลดช่องว่างและข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชน ตลอดจนเน้นการสื่อสารบทบาทของกรมป้องกันภัยและผลการดำเนินงานเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกับทุกภาคส่วน โดยอาศัยกลไกกระทรวงมหาดไทยในทุกระดับ ทุกพื้นที่ ทั้งอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

“ข้อมูลการแจ้งเตือนภัยมีผลต่อการป้องกันและการคาดการณ์ความรุนแรงของภัย รวมถึงส่งผลโดยตรงต่อประชาชน เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ดังนั้น ปภ. ต้องมีการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยให้มีการแจ้งเตือนที่แม่นยำ เที่ยงตรง ครอบคลุมทุกประเภทภัย โดยประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจาก ปภ. มีกฎหมายรองรับการปฏิบัติภารกิจในเรื่องนี้อยู่ พร้อมกันนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานปฎิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบ ซื่อสัตย์ สุจริต บนพื้นฐานของหลักคุณธรรม จริยธรรม ผมขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ เสียสละ อุทิศตนในการปฏิบัติงานช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้วยความเข้มแข็งมาโดยตลอด ซึ่งการทำงานของทุกท่านเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงปลอดภัยจากสาธารณภัยอย่างยั่งยืน“ นายทรงศักดิ์ รมช.มท. กล่าว

นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การปฏิบัติงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต้องดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดรับกับรูปแบบสถานการณ์ภัยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้วางนโยบายไว้ ที่จะต้องขับเคลื่อนภารกิจด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเชิงรุก โดยเตรียมพร้อมรับมือสาธารณภัยไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะจัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการอย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ บุคลากร ปภ. ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญแบบมืออาชีพ ทั้งทางด้านวิชาการและปฏิบัติงานในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่ 
รวมถึงสามารถจัดการ สาธารณภัยได้ทุกประเภทภัยและทุกระดับความรุนแรง

“ปภ. ไม่สามารถทำงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้อย่างลุล่วงได้เพียงหน่วยงานเดียว จำเป็นที่จะต้องหาภาคีเครือข่ายในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมากขึ้น ทั้งจากหน่วยงานภายในกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภายนอก ภาคเอกชน ภาคประชาชน โดยทุกเครือข่ายจะต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสาธารณภัยสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี” นายขจร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า คนทำงาน ปภ. จะต้องมีความตื่นตัวตลอดเวลา เนื่องจากภัยพิบัติไม่สามารถระบุเวลาในการเกิดเหตุได้ สิ่งแรกที่ต้องการให้ผู้ปฏิบัติต้องรู้จักและเข้าใจ คือ กฎหมายและแผนที่เกี่ยวข้องในการทำงาน อาทิ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าเรื่องเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570 รวมถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตีที่เกี่ยวข้อง ที่ทุกคนจะต้องจำให้ขึ้นใจ รวมถึงอัปเดทความรู้ที่เหมาะสมกับสาธารณภัยใหม่ ๆ และปรับปรุงแผนเผชิญเหตุระดับพื้นที่ที่ครอบคลุมทุกประเภทภัย ให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ที่เป็นปัจจุบันที่สุด

นายภาสกร กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการที่สุดในระยะนี้ คือ การปรับปรุงระบบการป้องกันสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าระดับสากล เพื่อลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติให้ได้มากที่สุด นั่นคือ ระบบการแจ้งเตือนภัย (Early Warning) ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ต้องมีการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนอย่างเร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีการนำเอาระบบ SMS มาใช้การแจ้งเตือนภัยในระดับพื้นที่เสี่ยง แต่ในอนาคตเรากำลังพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยโดยใช้เทคโนโลยี Call Boardcast ซึ่งจะทำให้การแจ้งเตือนภัยของเรามีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น แต่ถึงแม้ระบบจะดีแค่ไหน สิ่งสำคัญ คือ เราต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำมากที่สุด อีกทั้งจะต้องพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ใหม่ ๆ และมีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก สามารถคาดการณ์การเกิดสาธารณภัยได้อย่างแม่นยำ 

อธิบดี ปภ. กล่าวว่า หน่วยงานในสังกัด ปภ. มีหน้าที่รับผิดชอบที่แตกต่างกัน โดยหน่วยงานส่วนกลางเป็นหน่วยวิชาการ ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางปฏิบัติ ส่วนศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ทั้ง 18 ศูนย์เขต เป็นหน่วยกำลังหลักในการสนับสนุนเครื่องจักรกล เครื่องมือ และชุดปฏิบัติการเผชิญเหตุให้กับจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ รวมถึงต้องดูแลรักษาเครื่องจักรกล เครื่องมือต่างๆ ให้มีความพร้อมในการใช้งานได้ตลอดเวลา สำหรับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ต้องเป็นเลขานุการด้านสาธารณภัยให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด และเป็นหน่วยแปลงนโยบายหรือแผนไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ควบคู่ไปกับการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกถึงบทบาท ภารกิจ และการปฏิบัติงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างต่อเนื่องผ่านทุกช่องทางสื่อ รวมถึงเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนและชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้มีความพร้อมรับมือจากสาธารณภัยในเบื้องต้นก่อนที่หน่วยงานรัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือ“ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การพัฒนาบุคลากรในการหาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาตนเองในการทำงานอย่างต่อเนื่อง และมีทักษะในการทำงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างมืออาชีพ ที่สำคัญต้องทำงานด้วยความมีจิตสาธารณะ ทุ่มเท เสียสละ อุทิศตนในการทำงาน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัยอย่างยั่งยืน” อธิบดี ปภ. กล่าวทิ้งท้าย 55