มจพ. เปิดตัว รถมินิบัสไฟฟ้าคันแรก เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ เพิ่มความสะดวกสบายให้นักศึกษา บุคลากร และประชาชน 

                มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดตัว รถมินิบัสไฟฟ้าคันแรก สำหรับระบบขนส่งสาธารณะระบบรอง (Electric Mini Bus Prototype for Feeder Public Transport System) เพื่อตอบสนองความต้องการการเดินทางเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะของนักศึกษา บุคลากร และประชาชน และเชื่อมต่อการเดินทางในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยและพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น

                ศาสตราจารย์ ดร.ธานินทร์ ศิลป์จารุ อธิการบดี มจพ. กล่าวว่า “การค้นคว้า วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการขั้นพื้นฐานที่สำคัญ นั่นคือ ระบบขนส่งสาธารณะที่รองรับการเดินทางของนักศึกษา บุคลากร และประชาชน ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยและพื้นที่ใกล้เคียง สอดคล้องกับนโยบายการบริหารมหาวิทยาลัย ที่ต้องการให้บุคลากรและนักศึกษา มจพ. ได้ทำงานเรียนหนังสือ และใช้ชีวิตภายในรั้ว มจพ. อย่างมีความสุขเป็นสำคัญ อีกทั้งยังมุ่งหวังผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในประเทศไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ช่วยให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต อย่างมีเสถียรภาพ และยั่งยืนได้ การจัดงานในวันนี้จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดี เพื่อแสดงว่า มจพ. มีทรัพยากรที่พร้อมและสามารถเป็นส่วนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ได้เข้าถึงเทคโนโลยีและมีโอกาสนำความรู้ ในมหาวิทยาลัยไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยและทีมนักวิจัย มจพ. ในการสร้างสรรค์ผลงาน “รถมินิบัสไฟฟ้า” คันนี้ โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ที่สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการ และ บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ร่วมกันพัฒนาจนกระทั่งเกิดเป็นต้นแบบรถมินิบัสไฟฟ้าขึ้นมาในที่สุด”

                รองศาสตราจารย์ ดร.กัมปนาท เทียนน้อย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจพ. กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของงานวิจัยรถมินิบัสไฟฟ้า เริ่มจากการที่ทีมนักวิจัย นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยยุทธ์ สัมภวะคุปต์ เล็งเห็นถึงปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะหลักในปัจจุบัน ยังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเท่าที่ควร เนื่องจากยังไม่รองรับการเดินทางตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางในบางพื้นที่ ประชาชนจำนวนมากจึงยังคงเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางมากกว่าการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ขณะที่ทิศทางการพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศไทยในระยะหลัง มุ่งมั่นขยายการให้บริการเดินรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน รวมถึงการให้บริการเดินเรือในคลองสายต่าง ๆ เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทาง ล้อ ราง เรือ ให้เป็นหนึ่งเดียว และเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น จึงนำไปสู่โอกาสในการหยิบยกองค์ความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ที่ทีมนักวิจัยของ มจพ. ได้สั่งสมมา ต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์เทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับการผลิตรถมินิบัสไฟฟ้าขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรอง หรือ ระบบ feeder ในการให้บริการเสริมในส่วนที่ระบบขนส่งหลักยังไปไม่ถึง โดยการพัฒนางานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัย จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเภทงานมูลฐาน หรือ Fundamental Fund ในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ให้ความอนุเคราะห์ในการจัดสรรงบประมาณ ทั้งยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านยานยนต์ของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ในการดำเนินขั้นตอนประกอบรถมินิบัสไฟฟ้าต้นแบบที่ได้มาตรฐาน จนกระทั่งเกิดเป็นต้นแบบรถมินิบัสไฟฟ้า คันแรกของ มจพ. ได้ในวันนี้”

                สำหรับต้นแบบรถมินิบัสไฟฟ้าคันนี้ มีขนาด 7 เมตร จำนวน 18 ที่นั่ง รองรับการใช้บริการของผู้พิการ สามารถวิ่งได้ระยะทาง 100 กิโลเมตรต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้ความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และที่สำคัญ สามารถรองรับการอัดประจุไฟฟ้าได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ DC , AC  และแบบไร้สาย พัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัย มจพ. นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยยุทธ์ สัมภวะคุปต์ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องต้นกำลัง วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้ร่วมวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.กัมปนาท เทียนน้อย รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย วงศ์ช่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลภ กิติสาธร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรวัฒน์ คลับคล้าย อาจารย์ ดร.วัยอาจ สายคง และ อาจารย์ ดร.สุนทร โอษฐงาม

                ทั้งนี้ทีมวิจัยมีเป้าหมายมุ่งหวังให้เกิดการใช้ประโยชน์รถมินิบัสไฟฟ้าอย่างแท้จริง เช่น การให้บริการสำหรับบุคลากร เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาของ มจพ. ที่ต้องการใช้บริการในเส้นทางที่กำหนด เพื่อเดินทางไป-กลับ ระหว่าง มจพ. กับจุดหยุดรถที่เชื่อมต่อกับแนวเส้นทางวิ่งของโครงการรถไฟฟ้า หรือการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในภาคขนส่งสาธารณะมากขึ้นทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยได้ใช้ชีวิตประจำวันที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยส่งเสริมการใช้ Local Content ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าและต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ได้อย่างยั่งยืน

                ความสำเร็จจากงานวิจัยในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมในเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ตลอดจนองค์ความรู้รอบด้านของนักวิจัย มจพ. เพื่อพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความต้องการของภาคประชาชน และเชื่อมต่อการเดินทางในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยและพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น