ถกแก้ รธน.วันแรกล่ม! “เพื่อไทย” ปะทะ “พรรคส้ม” ฟาดกันกลางสภาฯ ด้าน “สส.-สว.” ดาหน้าวอล์กเอาท์ “วันนอร์”นัดใหม่ 14 กุมภาฯ“ปชน.”ซัดพรรคร่วมรัฐบาลไม่แสดงตนทำสภาฯ ล่ม สะท้อนรอยร้าว จี้ “นายกฯ-พท.” แสดงภาวะผู้นำคุมเสียงให้ได้ ส่วน “ภูมิใจไทย” ยกทีมแถลง ย้ำจุดยืนเมินร่วมสังฆกรรม แก้ “ม.256” หวั่นเสี่ยงขัดคำสั่ง “ศาล รธน.”มั่นใจไม่กระทบพรรคร่วมฯ อึ้ง!“เพื่อไทย-กล้าธรรม” ร่วมลงชื่อหนุนญัตติ “หมอเปรมศักดิ์” ส่งศาลตีความเพียบ

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.38 น. วันที่ 13 ก.พ.68 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา256 และเพิ่มหมวด15/1) จำนวน 2 ร่างฯ ได้แก่ 1.ร่างฯของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และคณะ เป็นผู้เสนอ 2.ร่างฯของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่วาระ นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ ในฐานะเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ได้ลุกขึ้นหารือว่า ในนามสมาชิกรัฐสภา ในสังกัดของพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด เรามีความคิดเห็นว่าวาระที่จะถูกพิจารณา หลังจากนี้จะผิดและขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงขออนุญาตไม่เข้าร่วมการพิจารณาและวอล์คเอาท์ออกจากห้องประชุมทันที

จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ ได้แจ้งที่ประชุมว่า มีญัตติด่วนที่เสนอโดย นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.ให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับปัญหาหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา มาตรา 210 (2) ทั้งนี้ตนอนุญาตให้เป็นเรื่องด่วนมีรายชื่อถูกต้องครบถ้วน ที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ลุกขึ้นอภิปราย พร้อมตั้งข้อสังเกต ว่าการเสนอญัตติด่วนอาจจะผิดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพราะตามข้อบังคับต้องเสนอล่วงหน้า 1 วัน แต่ไม่พบรายละเอียดก่อนถึงเวลาประชุม ดังนั้นตนขอเสนอญัตติให้พักการประชุม 15 นาที เพื่อให้พิจารณารายละเอียดของญัตติที่เสนอ

ขณะที่ นพ.เปรมศักดิ์ ขอใช้สิทธิชี้แจงว่า การเสนอญัตติดังกล่าวถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม โดยมี สส. และสว.ร่วมลงชื่อเกินกว่า 40 คน ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ จึงให้พักการประชุม หลังเปิดประชุมไปเพียง 10 นาที

ต่อมาเวลา 11.15 น. ประธานรัฐสภา ได้ถามที่ประชุมเพื่อลงมติ เห็นสมควรจะเลื่อนญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์ ขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่ จากจำนวนผู้ลงมติ 524 คน เห็นด้วย 247 คน ไม่เห็นด้วย 275 คน งดออกเสียง 4 คน ไม่ลงคะแนน 0 คน ที่ประชุมจึงพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในห้องประชุมมีความวุ่นวาย หลังจากที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายต่อการแสดงออกของสว.บางส่วนว่า ปกติการเข้าหรือออกจากห้องประชุมสามารถทำได้ ทำไมต้องแจ้งเพื่อขออนุญาตกับประธานรัฐสภา อยากให้ซักซ้อมว่าบางคนไม่เข้าใจ และองค์ประชุมหากครบ ยังเดินหน้าได้

ทำให้ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. อภิปรายสำทับเช่นกันต่อการวอร์กเอาท์ เพื่อแสดงความไม่พอใจผลการลงมติที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องพินาศของภาพลักษณ์ของรัฐสภา ทั้งนี้เราอยู่กันในระบอบประชาธิปไตย ไม่ยอมรับกติกา

จากนั้นนายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงคำพูดดังกล่าวพร้อมยืนยันว่า เราไม่เห็นด้วยกับการจงใจวอร์กเอาท์เพื่อบอยคอต ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยและฝั่งที่ลงมติให้เลื่อนญัตติ แม้ว่าจะแพ้ไป ยังอยู่ในห้องประชุม กรณีที่น.ส.นันทนา ระบุนั้นทำให้เสียหาย

อย่างไรก็ตามการประท้วงดังกล่าวยังดำเนินต่อไป จน นพ.เปรมศักดิ์ เสนอญัตติให้นับองค์ประชุม เนื่องจากพบว่ามีสมาชิกรัฐสภาบางส่วนวอล์กเอาท์ จากห้องประชุม ทั้งนี้นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เสนอญัตติให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ แต่ภายหลังได้ถอนออกไป เพราะไม่อยากให้รัฐสภาต้องเสียเวลา ทำให้ต้องใช้การแสดงตนผ่านการกดบัตรแสดงตน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมรัฐสภายังคงเต็มไปด้วยความวุ่นวายมีการประท้วงต่อการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่ไม่ยอมแสดงตนเป็นองค์ประชุมและมีการระบุว่าไม่ให้สมาชิกเข้าร่วมการประชุม

โดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน หารือว่า พบว่ามีการปิดประตูทางเข้า-ออกของห้องประชุมรัฐสภาบางประตูเพื่อไม่ให้มีการเข้าออก ขอให้ตรวจเช็คเรื่องดังกล่าว  และขอให้รอสมาชิกมาแสดงตน เนื่องจากสมัยรัฐสภาที่แล้วมีการรอองค์ประชุมนานถึง 53 นาที

ทั้งนี้ นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยต่อการเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นหนทางที่จะแก้ไขได้ หากญัตติค้างอยู่จะยังทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ต่อไป  แต่เมื่อมติไม่ชนะ หากจะเดินหน้าก็ตกอีก ดังนั้นจึงต้องการให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญค้างในสภา และตั้งหลักสู้ต่อไป จึงออกมาในแนวที่เห็น การเป็นองค์ประชุมหรือเลื่อนหรือไม่ เป็นวิธีการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ ไม่ใช่ได้แก้เพื่อบอกประชาชนว่าได้ทำแล้ว

“เมื่อจะแก้ไขได้จริงๆ สถานการณ์วันนี้ บอกตรงๆ ว่าหากลงมติคิดว่าตก หากเดินไปสู่การลงมติจะตก และนำกลับมาสู่การแก้ไขไม่ได้ง่ายๆ ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อทางตรงมันติด ต้องจึงขอใช้วิธีทางอ้อม ด้วยการส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ญัตติแก้รัฐธรรมนูญไม่ตกไป หากศาลบอกว่าทำได้ จะได้เดินต่อเพื่อให้เห็นหนทางที่ทำให้สำเร็จ”

ทำให้นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ลุกขึ้นชี้แจงพาดพิงว่า พรรคประชาชนเราเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีหลายร่าง และมีความมุ่งหวังจะให้มีความสำเร็จ แต่ที่เราไม่เห็นด้วยกับญัตติเพราะเรามั่นใจว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องส่งศาลรธน.

จากนั้นประธานในที่ประชุมได้ประกาศผลการลงมติ ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมประชุม 204 คน ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จึงสั่งปิดประชุม เวลา 12.03 น. พร้อมนัดประชุมต่อพรุ่งนี้เวลา 09.30 น.

ต่อมาเวลา 12.30 น. พรรคประชาชน นำโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน แถลงภายหลังที่ประชุมรัฐสภาล่มเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ โดยยืนยันว่า รัฐสภามีอำนาจเต็ม ในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ซึ่งจากทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็วินิจฉัยอย่างชัดเจนว่า เราสามารถที่จะเดินหน้าแก้ไขมาตรา 256 ได้ในทันที อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็ไม่รับวินิจฉัย ในข้อสงสัยเรื่องของการทำหน้าที่ของรัฐสภาที่เกิดผลขึ้นแล้ว และการลงมติในญัตติแรก ที่จะมีการเลื่อนหรือไม่เลื่อน ในการพิจารณาว่าจะส่งไปศาลรัฐธรรมนูญก่อนหรือไม่นั้น ผลของการลงมติก็ออกมาแล้วว่า ให้รัฐเดินหน้าต่อในการพิจารณาร่างแก้ไขที่พรรคประชาชนได้เสนอเข้ามา แต่ปรากฏว่า ขณะที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในญัตติดังกล่าว ในการประชุมวาระที่หนึ่งของร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 นี้ มีการเสนอให้นับองค์ประชุม ซึ่งก็มีเพื่อนสมาชิกรัฐสภายู่ในห้องประชุม จากสายตาตนเชื่อว่า มีจำนวนมากกว่าคนที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอ ก่อนที่ประธานรัฐสภาจะสั่งปิดการประชุม

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า มีเพื่อนสมาชิก โดยเฉพาะจากฝั่งรัฐบาลเอง ไม่กดแสดงตน ไม่เป็นองค์ประชุม ทั้งที่นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้พูดไว้ในห้องประชุมว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะเป็นองค์ประชุมในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญวันนี้  เป็นสิ่งสำคัญ ที่นายกรัฐมนตรี จะต้องแสดงให้เห็นถึงการควบคุมเสียงของฝั่งรัฐบาลเอง เนื่องจาก ผมเชื่อว่าถ้านายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนราษฎรอยู่ในห้องประชุมด้วย รวมถึงสามารถควบคุมเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลได้ วันนี้เราจะสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ขณะเดียวกันได้รับข้อมูลมาเพิ่มเติมมาว่า ถึงแม้วันนี้จะมีการปิดประชุมเร็ว แต่ว่าในวันพรุ่งนี้ประชุมอีกครั้งหนึ่ง และมีการขอให้ลงชื่อเข้าไปร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

“ผมอยากให้ทุกคนช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องให้ทางฝั่งรัฐบาล โดยเฉพาะยิ่งพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรี ช่วยกำกับดูแล ในส่วนของเสียงฝั่งรัฐบาลมาเข้าร่วมประชุมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ ให้เป็นองค์ประชุมอย่างพร้อมเพรียง เพราะอย่างน้อยๆ ผมคิดว่าการเห็นด้วยหรือการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 อย่างไร ก็ควรจะต้องเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในสภาก่อน หากมีข้อกังวลกับการลงมติจริง ภายหลังการเปิดอภิปรายเสร็จแล้ว ค่อยมาตัดสินใจก่อนที่จะลงมติอีกครั้งก็ยังได้ ไม่ควรที่จะเซ็นเซอร์อำนาจตัวเอง ถึงขนาดที่ว่าไม่กล้าให้เพื่อนสมาชิกรัฐสภา ไม่สามารถอภิปรายในรัฐบาลแห่งนี้ได้”หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าว

เมื่อถามถึงความจริงใจของพรรคเพื่อไทยในการแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากก็มี สส.ของพรรคเพื่อไทยหลายคนร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า มีร่างของพรรคเพื่อไทยเสนอเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้น ตนจึงยังค่อนข้างมีความสับสนว่า ในเมื่อมีร่างที่ทางฝั่งพรรคเพื่อไทยเสนอมาด้วย ทำไมถึงไม่มีการแสดงตน หรือว่าไม่มีการแสดงความชัดเจนว่า อยากจะเริ่มเดินหน้าต่อในวันนี้ ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความตกลงกันไม่ได้ หรือความมีรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจะต้องแสดงให้เห็นถึงภาวะความเป็นผู้นำ และการควบคุมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันให้ได้ ซึ่งในวันพรุ่งนี้ก็จะเป็นอีกโอกาสหนึ่ง ที่พรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรีเอง จะแสดงให้เห็นว่าสามารถควบคุมเสียงรัฐบาลได้จริง

เมื่อถามว่า ถ้าเดินหน้าพิจารณาต่อ พรรคประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่า จะได้เสียงเห็นชอบจาก สส.ฝั่งรัฐบาล และ สว. นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ด่านแรก ถ้าอ่านตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวันนี้เอง เราก็ได้พิมพ์ก๊อบปี้ในส่วนของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาแจกให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนได้อ่านด้วย โดยระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่รับวินิจฉัยในเรื่องของข้อสงสัย และญัตติที่เสนอเข้าว่า จะส่งหรือไม่สามารถรู้ก่อนได้ สำหรับพรรคประชาชนเอง เราคิดว่าไม่จำเป็นต้องส่งศาล สามารถเดินหน้าต่อได้เลย ส่วนด่านที่ 2 ในเรื่องของการแก้ไขมาตรา 256 ร่างของพรรคเพื่อไทยและร่างของพรรคประชาชนมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งจริงๆในหลายๆ เรื่อง ตนเชื่อว่ายังสามารถไปพูดคุยกันได้ในวาระที่ 2 นะครับ และเรื่องที่มีเพื่อนสมาชิกรัฐสภาบางส่วน ไม่เห็นด้วยว่าจะให้มีการแตะหมวด 1 และ 2 หรือไม่นั้น ตนเชื่อว่ายังไม่เป็นสาระสำคัญในช่วงการลงมติของวาระที่ 1 เพราะฉะนั้น ถ้าดูโดยหลักการ การรับหรือไม่รับในวาระที่ 1 เราสามารถเดินหน้ารับหลักการได้ ไปถึงขั้นตอนในวาระที่ 2 และ 3 และหากถามถึงความเห็นของสมาชิกแต่ละฝ่าย ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในการเดินหน้าการแก้ไขนั้น สำหรับตนเอง ก็เป็นสิทธิ์ที่เขาจะลงมติ แต่อย่างน้อยๆ ควรเปิดให้มีการอภิปรายก่อน น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน

“ไม่อยากให้มองว่าเป็นการเมืองของคนดีหรือคนร้าย แต่ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประเทศในปัจจุบัน ที่เราตกอยู่ในหลุมดําของความรับผิดรับชอบ พูดง่ายๆ คือเราต้องการคนที่มีอำนาจใช้อำนาจของตัวเอง เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ แต่ผลปรากฏว่า สิ่งที่เราเห็นคือการเสนอญัตติเพื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง ดังนั้น เราต้องถามก่อนว่า ตกลงการมีอำนาจในการทำหรือไม่ทำนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ตอนนี้เราตกอยู่ในภาวะที่ผู้มีอำนาจในรัฐ ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติ เรากำลังตกอยู่ในอุตสาหกรรมของความที่รัฐขาดความรับผิดรับชอบ ไม่กล้าใช้อำนาจตัวเอง ในขณะเดียวกัน เพราะว่าไม่กล้าที่จะรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจตัวเองเช่นเดียวกัน ดังนั้น เราก็อยากเรียกร้องไปยังทุกฝ่าย เนื่องจากตนเชื่อว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการในตอนนี้ คือผู้ที่มีอำนาจในการกล้าที่จะตัดสินใจ ใช้อำนาจตัวเอง และพร้อมที่จะรับผิดชอบ”นายณัฐพงษ์ กล่าว

เมื่อถามว่ามองท่าทีสว.วันนี้อย่างไร นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ถ้าเราดูเมื่อช่วงเช้า ก็มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แต่สุดท้าย หากถามว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน หรือว่าเสียงจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ก็จะต้องมีการลงมติก่อน แต่กระบวนการที่ผ่านมา มีเกมในสภาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นว่า มีกระบวนการในการพยายามขัดขวาง เพื่อที่จะไม่ให้พวกเราเดินหน้าไปสู่การลงมติได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตนคิดว่า ประชาชนทุกคนไม่อยากเห็น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนพ.เปรมศักดิ์ ยื่นญัตติด่วนเรื่องขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรค 1 (2) โดยมีผู้เข้าร่วมลงชื่อรับรอง ทั้งจากฝั่ง สส. และ สว. ซึ่งเป็นที่สังเกตว่า มี สส.ของพรรคเพื่อไทย (พท.)ซึ่งได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 13 ก.พ. ร่วมลงชื่อด้วย อาทิ นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรค นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ในฐานะ สส.นครพนม นพ.เชิดชัย ตันติศิรนทร์ สส.บัญชีรายชื่อ และพรรคกล้าธรรม อาทิ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี เป็นต้น ซึ่งหลายคนร่วมลงชื่อกับ สว. แสดงความสนับสนุนให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า จากที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 12 ก.พ. มี สส. หลายคนทักท้วงเกี่ยวกับญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ ดังนั้นจึงเห็นว่าเพื่อความมั่นใจและความสบายใจของทุกฝ่าย ก็ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ชัด เพราะอย่างไรถึงลงมติกันไปร่างแก้ไจรัฐธรรมนูญก็อาจจะไม่ผ่าน อีกทั้งเสียงสนับสนุนจาก สว. ก็คงไม่ครบ เพราะพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส. อุบลราชธานี ในฐานะโฆษกพรรคภูมิไจพร้อมสส.พรรคภูมิใจไทย ร่วมแถลงถึงจุดยืนของพรรคต่อการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256

โดย น.ส.แนน บุณย์ธิดา กล่าวว่า “เราเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ต้องอยู่ในขั้นตอนที่ชอบธรรม การแก้ไขรายมาตราสามารถทำได้ แต่วันนี้เป็นการพิจารณาในมาตรา 256 ซึ่งจะนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.และนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราจึงมีความเห็นร่วมกันอย่างชัดเจนว่า นี่คือการขัดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่ขอมีส่วนร่วมในการพิจารณาในครั้งนี้ เพราะเราเห็นว่านี่คือการขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่าเรื่องนี้จะกระทบต่อการทำงานในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ น.ส.แนน  บุณย์ธิดา กล่าวว่า  ที่ผ่านมานายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้กล่าวชัดเจนแล้วว่าในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการยื่นเฉพาะพรรคการเมือง ซึ่งในวันนี้ที่เราเห็นมีเพียง 2 พรรคการเมืองเท่านั้นที่ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นของทั้งฝั่งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ต้องบอกว่าเป็นเรื่องความเห็นของพรรคในการยื่น ดังนั้นในเรื่องการทำงานในระดับของพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การที่เราทำหน้าที่อยู่ในขณะนี้คือการทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งชัดเจนในหน้าที่ของเรา