"บีโอไอ" เผย "มาสด้า" เข้าพบนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร พร้อมประกาศแผนลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท ตามมาตรการส่งเสริม HEV/MHEV ที่บอร์ดอีวีเห็นชอบ หนุนไทยฐานผลิตรถยนต์ B-SUV ช่วยขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ตั้งเป้าผลิต 1 แสนคันต่อปี ย้ำศักยภาพประเทศไทยเป็นผู้นำฐานผลิตและส่งออกยานยนต์แห่งอนาคตทุกเซกเมนต์ของภูมิภาค
เมื่อวันที่ 13 ก.พ.68 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 นายมาซาฮิโร โมโร (Mr. Masahiro Moro) President and CEO ของบริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี และประกาศแผนขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติม มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท โดยจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักของรถยนต์อเนกประสงค์ B-SUV แบบ Mild Hybrid (MHEV) ซึ่งเป็นรถยนต์แบบผสมที่ใช้เครื่องยนต์ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ตั้งเป้าผลิต 1 แสนคันต่อปี เพื่อส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งการขยายการลงทุนของมาสด้าในครั้งนี้ เป็นผลจากการที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบ “มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับการผลิตรถยนต์ Hybrid (HEV) เหลือร้อยละ 6 - 9 และรถยนต์ Mild Hybrid (MHEV) เหลือร้อยละ 10 - 12 มีผลตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2569 – 2575) ประกอบกับบีโอไอ ได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยให้สิทธิประโยชน์พิเศษกับผู้ผลิตรถยนต์ทุกประเภทที่มีการนำระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในสายการผลิตด้วย
“การขยายการลงทุนของมาสด้า เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักของรถยนต์ประเภท B-SUV ในครั้งนี้ ตอกย้ำความเชื่อมั่นที่มีต่อศักยภาพของประเทศไทย และความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ทุกประเภทให้สามารถเติบโตและเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการรักษาและพัฒนาต่อยอดกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์แห่งอนาคตของภูมิภาค”นายนฤตม์ กล่าว
นายมาซาฮิโร โมโร President and CEO บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า มาสด้าในประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 70 ปี ซึ่งนอกจากบริษัท มาสด้า เซลส์ และเครือข่ายผู้จำหน่ายรถยนต์มาสด้าแล้ว มาสด้ายังได้มีการลงทุนสร้างฐานการผลิตในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยได้ก่อตั้งโรงงานAutoAlliance (AAT) ที่จังหวัดระยอง เมื่อปี 2538 เพื่อผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และได้ก่อตั้งโรงงาน Mazda Powertrain Manufacturing Thailand (MPMT) ที่จังหวัดชลบุรี เมื่อปี 2558 เพื่อผลิตเครื่องยนต์และเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งทั้งสองโรงงานเป็นรากฐานสำคัญที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์มาสด้าและชิ้นส่วน เพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดทั่วโลก
“วันนี้มาสด้าได้ก้าวไปอีกขั้น เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) ด้วยการเพิ่มเงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ B-SUV ของมาสด้า ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการช่วยขับเคลื่อน ประหยัดพลังงาน ลดมลภาวะ และความปลอดภัยในระดับมาตรฐานสากล ตั้งเป้าการผลิต 1 แสนคันต่อปี เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น กลุ่มอาเซียน และประเทศอื่นๆทั่วโลก โดยการลงทุนนี้จะครอบคลุมทั้งในส่วนของการประกอบรถยนต์ และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ทั้งเครื่องยนต์ เกียร์ และแบตเตอรี่ พร้อมเร่งลงทุนเพื่อให้เริ่มผลิตได้ในปี 2570 รองรับความต้องการรถยนต์พลังงานใหม่ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆด้วย นี่คือจุดเริ่มต้นของการลงทุนเพิ่มเติมครั้งใหญ่สำหรับประเทศไทยเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของมาสด้า ภายใต้แนวทาง Multi-Solution ซึ่งตอกย้ำถึงพันธกิจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างมาสด้ากับประเทศไทย ที่ดำเนินมายาวนานหลายทศวรรษ และแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย” นายมาซาฮิโรกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บอร์ดอีวี ได้เห็นชอบ “มาตรการสนับสนุนรถยนต์ Mild Hybrid (MHEV)” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเซกเมนต์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก โดยได้กำหนดสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการลงทุน ดังนี้
(1)ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สูงสุดไม่เกิน 120 g/km
-การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 10
-การปล่อย CO2 ตั้งแต่ 101 – 120 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 12
(2)ต้องมีการลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทในเครือ ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567 – 2569 และไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567-2571
(3)ต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ Traction Motor หรือชิ้นส่วนที่มีลักษณะการทำงานเพื่อเสริมแรงขับเคลื่อน ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป
(4)ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (ADAS) อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ
สำหรับสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ในปี 2567 มีจำนวน 309 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 102,366 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ทั้ง BEV, HEV และ ICE การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อรถยนต์และอากาศยาน แบตเตอรี่ สถานีอัดประจุไฟฟ้าและสถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่
#มาสด้า #MHEV #บีโอไอ #ฐานผลิตยานยนต์ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์