ผลบวกมาตรการกระตุ้น ศก.-ท่องเที่ยวฟื้น ดันดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคม.ค.ดีขึ้นต่อเนื่อง 4 ด. สูงสุดรอบ 8 ด. กังวลค่าครองชีพพุ่ง

เมื่อวันที่ 13 ก.พ.68 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย  เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2568 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเห็นว่ามาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นและการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 52.6 56.2 และ 68.1 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบ 11 เดือน เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนธันวาคม ที่อยู่ในระดับ 51.4 55.3 และ 67.0 ตามลำดับ การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ และค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงจากสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 57.9 เป็น 59.0  เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นมา  การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 41.3 เป็น 42.4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 66.0 มาอยู่ที่ระดับ 67.0 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบ 11 เดือนทุกรายการ แสดงว่า ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในอนาคตได้ หากรัฐบาลขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีต่อเนื่องและไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ เกิดขึ้นเพิ่มเติมทั้งความเสี่ยงจากภายในและภายนอกประเทศ