"ปธ.วันนอร์" แก้ลำก๊วนชงศาล รธน.ตีความ "รัฐสภา" รื้อแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่!? ฟันฉับเดินหน้าถก 2 ญัตติ 13-14 ก.พ.นี้ รอชี้ขาดชั้นรับหลักการ หากฉลุยค่อยส่ง กกต. ทำ "ประชามติ" ถามประชาชนจะยอมให้รื้อทั้งฉบับหรือไม่ แต่หากเสียง "สว." ค้านเกิน 1 ใน 3 ต้องตกไปโดยอัตโนมัติ ดักคอจะได้ไม่ต้องเสียเงินทำ ปชม.รอบหนึ่ง 3 พันล้านหลายรอบ

วันที่ 10 ก.พ.68 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข้อกังวลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อาจมีผู้ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลยหรือไม่ หรือจะต้องทำประชามติก่อนว่า ขณะนี้ตนได้รับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ญัตติ คือ 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และคณะ และ2.ร่างฯของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ ซึ่งเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล จากการที่ได้หารือกับวิป3ฝ่าย และผู้แทนคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ โดยวางกรอบเวลาพิจารณาทั้งสิ้น 19 ชั่วโมง ส่วนข้อกังวลดังกล่าว เป็นเรื่องของความเห็น ตนไม่ทราบว่าจะส่งให้ศาลฯตีความในประเด็นใด มาจากกลุ่มไหน หากมาจากสมาชิกรัฐสภาจะต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 40 คน และประธานรัฐสภาต้องหารือในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ว่าจะมีผู้เห็นด้วยให้ประธานฯส่งไปให้ศาลฯตีความหรือไม่ หากเสียงข้างมากเห็นว่าควรส่ง ประธานฯก็จะดำเนินการส่งไปยังศาลฯ 

เมื่อถามว่าควรจะมีขั้นตอนนี้หรือไม่เพื่อให้เกิดความสบายใจและเดินหน้าต่อ หรือต้องรอให้สส.ส่งเรื่องมา นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบความเห็น แต่ละฝ่ายอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ความเห็นของประธานรัฐสภาเห็นว่าควรจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ และมีการพิจารณาในที่ประชุมฯ เพราะก่อนหน้านี้ได้นำเอาญัตติทั้ง2ไปหารือในที่ประชุมของที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของประธานสภาฯแล้ว เสียงข้างมากเห็นว่าบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเพื่อพิจารณาได้ ขณะเดียวกันระยะเวลาที่ผ่านมา มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าควรจะบรรจุ ซึ่งตนได้ชี้แจงในที่ประชุมวิป3ฝ่ายไปแล้วถึงเหตุผลที่ตัดสินใจแบบนี้ ส่วนการที่จะบอกว่าให้ไปทำประชามติเสียก่อนถึงจะบรรจุการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ ในคำวินิจฉัยของศาลฯ เขาใช้คำว่าถ้าสภาฯต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ไปถามประชาชนก่อน ดังนั้นคำว่าสภาฯมีความต้องการจะแก้ ก็ต้องตีความสภาฯหมายถึงอะไร ก็ต้องหมายความว่าที่ประชุมของรัฐสภาเสียงข้างมาก ซึ่งต้องบรรจุ แต่ถ้าเสนอกฎหมายรัฐธรรมนูญมาอย่างเดียว ก็เป็นความต้องการของพรรคการเมือง หรือประชาชน เรายังไม่ทราบว่ารัฐสภาต้องการจะแก้หรือไม่  

”ผมใช้การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะส่งให้ศาลฯ ศาลฯบอกว่าเรื่องยังไม่เกิด อำนาจการบรรจุญัตติเป็นอำนาจของประธานรัฐสภา เรื่องยังไม่บรรจุ จะไปถามศาลฯทำไม นอกจากนี้ยังถามศาลฯไปควรทำประชามติ2หรือ3ครั้ง ศาลฯบอกให้วินิจฉัยเอาเอง ดังนั้นผมจึงตีความว่า การที่จะให้รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องถามมติจากรัฐสภา ดังนั้นต้องมีการประชุม ถ้าวาระแรกในชั้นรับหลักการต้องเสียงข้างมากเห็นชอบมากกว่า1ใน3 แล้วฝ่ายวุฒิสภาก็ต้องมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยเสียงก็ต้องเกิน1ใน3 คือ67คนขึ้นไป หากคนไม่เห็นด้วยเกินกว่า1ใน3 ถือว่าญัตติก็ต้องตกไปในวาระแรก ก็ไม่ต้องไปถามประชามติจากประชาชนแล้ว แต่หากวาระแรกผ่าน แสดงว่าต้องการแล้ว ผมก็หยุดกระบวนการของรัฐสภา แล้วนำความต้องการไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทำประชามติต่อประชาชนว่าจะเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ในมาตรา256 และหมวด15/1 ถ้าประชาชนเห็นด้วยก็เดินหน้าต่อ แต่หากไม่เห็นด้วย ก็ยุติทั้งหมด จะได้ไม่ต้องเสียเงินทำประชามติหลายรอบ การทำประชามติครั้งหนึ่งใช้เงิน3พันล้านบาท เพราะถ้าหากเราถามประชาชนก่อน ประชาชนบอกเห็นด้วย แต่มาประชุมรัฐสภา รัฐสภาบอกไม่เอาด้วย ก็เสียเงินไป3พันล้านเปล่าๆที่เอาไปทำอะไรได้ตั้งเยอะ” ประธานรัฐสภา กล่าว