ยกให้เป็นผู้นำประเทศที่เขย่าโลก สร้างความป่วนปั่นให้กับโลก ณ ชั่วโมงนี้ “ของแทร่”
สำหรับ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ได้ชื่อมหาอำนาจโลกแห่งยุค ที่แน่นอนว่า เมื่อจะขยับปรับทิศทางท่าทีไปอย่างไร ก็ล้วนส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้ไปด้วยกันทั้งสิ้น
โดยประธานาธิบดีทรัมป์ ก็เริ่มสร้างปรากฏการณ์สะท้านขวัญโลก ตั้งแต่สิ้นเสร็จพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่กี่อึดใจต่อมาเลยก็ว่าได้ เพราะลงนาม หรือเซ็น ใน “คำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order)”นับสิบฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับล้วนเขย่าโลกให้สั่นสะท้านแทบทั้งสิ้น
หลังจากนั้น บรรดาองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่สหรัฐฯ แต่ครั้งเก่าก่อน ซึ่งเคยบทบาทในฐานะผู้นำ เหล่าชาติสมาชิกขององค์กร ต่างอกสั่นขวัญแขวนกันว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ จะดำเนินการไปอย่างไรนับตั้งแต่นี้
โดยมีสององค์การความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศ ที่บรรดาชาติสมาชิก ออกอาการหายไม่ทั่วท้อง เพราะหวั่นเกรงว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ จะหันหลังออกห่าง เหมือนอย่างที่องค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ หรือที่หลายคนเรียกแบบย่อๆ อย่างติดปากว่า “ฮู (WHO : World Health Organization) ประสบเจอ นั่นคือ
-กลุ่มจตุภาคีว่าด้วยความมั่นคง หรือควอด (Quad) อันประกอบด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ในฐานะผู้นำกลุ่ม และอีก 3 ประเทศที่เหลือ คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย
-กลุ่มกติกาสัญญาความมั่นคงไตรภาคีออคัส (AUKUS) อันประกอบด้วย ชาติสมาชิก 3 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ
ทั้งนี้ กลุ่มองค์ความร่วมมือทางทหารทั้งสองกลุ่มนั้น มีภารกิจหลักๆ ก็คือ ต่อต้านการขยายตัวทางอิทธิพลและการคุกคามด้านความมั่นคงจากจีนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และอินโด-แปซิฟิก ซึ่งอินโด-แปซิฟิกที่ว่า ก็เป็นการลากเอาเหล่าประเทศในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ที่มีอินเดียเป็นชาติพี่เบิ้มใหญ่ เข้ามาร่วมขบวนด้วย ในการต่อต้านจีน จากการที่อินเดีย ก็มีปัญหามีพิพาททางดินแดนกับจีน นอกเหนือจากการแข่งขันระหว่างกันแล้วของทั้งสองประเทศ
โดยทั้ง “ควอด” และ “ออคัส” ก็ยกให้สหรัฐฯ เป็นพี่ใหญ่ของกลุ่มองค์กร ที่จะเผชิญหน้ากับจีน แต่หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว บรรดาชาติสมาชิกเหล่านี้ ก็ออกอาการวิตกกังวลไม่น้อยว่า นายทรัมป์ ผู้ที่จะก้าวขึ้นมาประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะมุ่งดำเนินนโยบายเน้นพัฒนาไปในสหรัฐฯ มากกว่าการให้ความสำคัญนโยบายต่างประเทศ ตามแนวทางที่จะทำให้ “อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ซึ่งเขารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในทำนองนี้มาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี บรรดาชาติสมาชิกทั้งสององค์กรเหล่านี้ ออกมาใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง เมื่อในระหว่างที่นายทรัมป์ รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธีบดีสหรัฐฯ ในช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกันกับที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดจตุภาคี หรือควอดซัมมิต (Quad Summit) นั้น นายทรัมป์ ได้ให้คำมั่นว่า จะดำเนินนโยบายในแนวทางเผชิญหน้ากับจีน
ก็แน่นอนว่า แนวทางการเผชิญหน้ากับจีนข้างต้น สหรัฐฯ ยังต้องมีสององค์กรความร่วมมือทางทหารข้างต้น คือ ควอด และออคัส เป็นกลไกเครื่องมือที่สำคัญอยู่ ไม่สามารถละทิ้ง หรือหันหลังให้ได้
อย่างไรก็ดี นายทรัมป์ ก็ยังคงไว้ลาย ในการที่จะทำให้ประเทศที่เป็นหุ้นส่วนองค์กรความร่วมมือข้างต้นนั้น ต้องออกแรง ขยับแข้ง ขยับขากันบ้าง ด้วยการส่งสารแสดงความกังขาต่อเหล่าพันธมิตรดั้งเดิมของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย ที่ในระหว่างนั้น นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย คือ นายแอนโทนี แอลบานีส เดินทางมาเข้าร่วมประชุมสุดยอดจตุภาคี หรือควอดซัมมิตที่สหรัฐฯ นั้น ได้ยินได้ฟังอย่างชัดๆเต็มหูด้วยว่า สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่ใกล้ชิดที่สุดของออสเตรเลีย
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงออสเตรเลีย ก็นับเป็นประเทศสมาชิกของทั้องสององค์กรฯ คือ ทั้งจตุภาคี หรือควอด และออคัส จนถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เป็นหุ้นส่วนสำคัญด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ด้วยเหมือนกัน
ล่าสุด ในความคืบหน้าล่าสุดของกลุ่มออคัส ก็มีความเคลื่อนไหวจากทางออสเตรเลีย เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
จากการที่ทางการออสเตรเลีย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแอลบานีส ออกมายืนยันถึงการชำระเงินครั้งแรก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามข้อตกลงด้านกลาโหม
โดยเป็นการยืนยันการชำระเงินในระหว่างที่ทางการออสเตรเลีย ส่งนายริชาร์ด มาร์เลส รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาเข้าร่วมประชุมกับทางการสหรัฐฯ ซึ่งนายมาร์เลส ได้พบปะกับนายพีท เฮกเซธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือเพนตากอน เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ทั้งนายมาร์เลส และนายเฮกเซธ ได้หารือผ่านทางโทรศัพท์เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่เพิ่งผ่านพ้นมา
ทั้งนี้ รัฐมนตรีฯ เฮกเซธ กล่าวภายหลังจากทางการออสเตรเลีย ยืนยันที่จะชำระเงินข้างต้นว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ มีความตระหนักเป็นอย่างดี และสนับสนุนออคัสเป็นอย่างมาก โดยประธานาธิบดีทรัมป์ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ
รายงานข่าวเผยว่า ออสเตรเลีย มีแผนการที่จะซื้อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ระดับเวอร์จิเนียคลาส หลายลำด้วยกัน ตามโครงการพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศทางน้ำและใต้น้ำ ก่อนถึงช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2030 ซึ่งว่ากันถึงเม็ดเงิน ทางออสเตรเลีย ก็จะต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการเสริมสร้างเขี้ยวเล็บทางนาวีข้างต้น พร้อมกับได้รับความร่วมมือทางการทหารที่แข็งแกร่งจากทางสหรัฐฯ สำหรับต้านอิทธิพลจีนที่ขยายวงลงไปในตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ด้วย